กรมพัฒน์ฯ ดัน “ร้านค้าส่งค้าปลีก”คนไทย เข้าตลาดหลักทรัพย์ แย้มมีแววอีก 2-3 ราย

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลุยปั้น “ร้านค้าปลีกค้าส่ง” ในการดูแล เข้าไประดมทุนในตลาดหุ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ เผยกำลังอยู่ระหว่างการแต่งตัว 2-3 ราย หลังก่อนหน้านี้ ทำสำเร็จมี 2 ราย เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันร้านค้าปลีกค้าส่งที่อยู่ในการส่งเสริมและได้รับการพัฒนาจากกรมฯ ซึ่งปัจจุบันมีร้านต้นแบบจำนวน 213 ราย เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สามารถผลักดันเข้าไปจดทะเบียนและมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว 2 ราย คือ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) ที่เชียงราย และบริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จากัด (มหาชน) ที่หาดใหญ่ เพราะถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของไทย  
         
“กรมฯ กำลังเข้าไปช่วยเหลือและผลักดันให้มีการเข้าไปจดทะเบียน เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเห็นแวว 2-3 ราย เพราะมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขากำลังแต่งตัวอยู่ คาดว่า อีกไม่นาน จะมีความชัดเจนมากขึ้น หากทำเสร็จอีก ก็จะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของคนไทยเก่ง และสามารถอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงได้”
         
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ก้าวไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เพราะสามารถระดมเงินทุนมาใช้ในการขยายกิจการ เพิ่มจำนวนสาขา และแข่งขันกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ได้ ทำให้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของคนไทย มีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
         


นายพูนพงษ์กล่าวว่า ในปี 2564 กรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาโชวห่วยให้มีความเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าเข้าไปช่วยปรับวิธีการบริหารจัดการร้านค้าให้เป็นระบบ ระเบียบมากขึ้น ปรับโฉมร้านค้าให้มีความทันสมัย สินค้าต้องหาง่าย และต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัยที่ดี ร้านค้า สินค้า ต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรค รวมทั้งจะผลักดันให้มีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้า เช่น ระบบการขายหน้าร้าน (Point of Sale : POS) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจ โดยถือเป็นสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ตั้งเป้าจะพัฒนาให้ได้ 3,500 ราย และในจำนวนนี้ 500 ราย จะผลักดันให้นำระบบ POS มาใช้
         
ทั้งนี้ ยังจะผลักดันให้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ควบคู่กับการขายสินค้าหน้าร้าน (Omni-Channel) ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้น ทั้งลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่ โดยโชวห่วยไม่จำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์เป็นของตนเอง แต่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ เช่น แอปพลิเคชันไลน์ หรือแมสเซนเจอร์ เป็นช่องทางการตลาดให้กับผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้า เพราะผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จะมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวกันอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มเติม แต่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อ และผู้ขายก็จะมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยมีการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าแบบเดลิเวอรี่ เช่น จักรยานยนต์ หรือจักรยาน เป็นต้น
         
ปัจจุบัน มีร้านโชวห่วยทั้งประเทศประมาณ 4 แสนราย โดยตัวเลขที่ทรงตัวอยู่ในระดับนี้มานาน เพราะมีการเปิดใหม่ และปิดตัวไปเท่าๆ กัน โดยรายเดิมที่ปิดตัวไป มีทั้งทำธุรกิจมานาน และไม่มีลูกหลานมาทำกิจการต่อ จึงต้องปิดตัวไป หรือทำแล้วประสบปัญหา แข่งขันไม่ได้ ก็ปิดตัวไป แต่ก็มีรายที่ปรับตัว และอยู่รอดได้ ก็ทำธุรกิจต่อ และยังมีรายใหม่ๆ เข้ามาทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ทำให้ร้านโชวห่วยมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีร้านโชวห่วยเกิดใหม่มากขึ้นตามไปด้วย

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง