เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ เสนอ USTR เลื่อนสถานะไทยมาอยู่บัญชี WL แทน PWL ที่อยู่มาเกือบ 10 ปี

img



กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจ้งข่าวดี เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ เสนอ USTR เลื่อนสถานะไทยมาอยู่กลุ่ม WL แทน PWL หลังพอใจไทยแก้ปัญหาละเมิด ลุ้นประกาศผลสิ้นเดือนเม.ย.นี้

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธมิตรทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) ประกอบด้วย ค่ายภาพยนตร์ฮอลลีวูด ค่ายเพลงชั้นนำของโลก บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านบันเทิง และเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) ประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ ได้เสนอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จัดอันดับไทยอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น โดยเสนอให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) จากในช่วงเกือบช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาจนถึงปัจจุบัน และนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีที่ IIPA เสนอให้ไทยอยู่ในกลุ่ม WL จากก่อนหน้านี้เสนอให้ไทยอยู่ในกลุ่ม PWL มาโดยตลอด

ทั้งนี้ IIPA ระบุว่า พอใจที่ไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ให้ครอบคลุมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต, การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธาน , การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งระบบ ที่รวมถึงการป้องปรามการละเมิด และการสนับสนุนให้ภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในไทย โดยการคืนเงินค่าใช้จ่าย 20% ให้แก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ในขณะที่ BSA พอใจการประสานงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม มีภาคเอกชนกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มพันธมิตรต่อต้านการปลอมระหว่างประเทศ (IACC) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐฯ (PhRMA) และองค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO) ที่เสนอให้คงสถานะไทยในบัญชี PWL โดยต้องการให้ไทยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น เช่น การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรที่ครอบคลุมมากขึ้น การให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาอย่างเข้มงวด การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น

"USTR จะรับฟังและประมวลความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ข้อมูลของรัฐบาลประเทศคู่ค้า และภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ หลังจากนั้นจะประกาศสถานะประเทศคู่ค้าในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ แต่ไม่ว่า ผลจะออกมาอย่างไร หน่วยงานภาครัฐของไทยได้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ค้าและนักลงทุน รวมถึงเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสม ถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้"นายทศพลกล่าว
 

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง