​มะกันยื่นปฏิรูป WTO ขอปรับเกณฑ์ให้แต้มต่อชาติกำลังพัฒนา ไทยผนึกสมาชิกค้านทันควัน

img

สมาชิก WTO เดินหน้าปฏิรูปองค์กรอย่างเข้มข้น วางกรอบ 4 ประเด็นหลัก ที่ต้องทำให้สำเร็จ ทั้งการปรับปรุงความโปร่งใสการแจ้งข้อมูลกฎระเบียบการค้า การปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท การผลักดันการเจรจารอบโดฮา และการปรับปรุงการปฏิบัติเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา เผยเรื่องให้สิทธิ์ประเทศกำลังพัฒนามากกว่า กำลังกลายเป็นเรื่องเข้มข้น หลังมะกันขอเพิ่มหลักเกณฑ์ อ้างบางประเทศไม่ควรได้รับสิทธิ์ ไทย จีน อินเดีย แอฟริกา ไม่เห็นด้วย
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า ขณะนี้สมาชิก WTO ได้มีการหารือกันอย่างเข้มข้นในเรื่องนี้ โดยมีกรอบการปฏิรูป WTO ใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การปรับปรุงความโปร่งใส และการแจ้งข้อมูลกฎระเบียบมาตรการทางการค้าของสมาชิก 2.การปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO 3.การผลักดันการเจรจารอบโดฮาให้คืบหน้า เช่น เรื่อง e-Commerce การอุดหนุนประมง การปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ และ 4.การปรับปรุงหลักการให้การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง หรือ special and differential treatment (S&D) แก่ประเทศกำลังพัฒนาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร
          
ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับปรุงหลักการ S&D ถือเป็นเรื่องที่กำลังเข้มข้น เพราะสหรัฐฯ ได้เสนอเอกสารให้ความเห็นว่าหลักการของ WTO ที่ผ่านมา ที่ให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตามพันธกรณี WTO เช่น มีระยะเวลาปรับตัวที่นานกว่า มีข้อผูกพันน้อยกว่า แต่ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิก WTO มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น
         
“สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ควรมีการปรับหลักเกณฑ์การให้ S&D แก่สมาชิก WTO ใหม่ มีการจำแนกประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศที่ควรเข้าข่ายได้รับ S&D ไม่ใช่แค่เพียงแจ้ง WTO ว่าตัวเองเป็นประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่หากเข้าข่ายเงื่อนไขเหล่านี้ จะไม่มีสิทธิ์ได้รับ S&D ได้แก่ 1.เป็นสมาชิก OECD หรืออยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ปัจจุบัน มี 36 ประเทศ เช่น ชิลี เม็กซิโก 2.เป็นสมาชิกกลุ่ม G20 เช่น บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ 3.เป็นประเทศที่ธนาคารโลกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (รายได้ประชาชาติต่อประชากรอยู่ที่ 12,055 เหรียญสหรัฐขึ้นไป) เช่น สิงคโปร์ จีนไทเป และ 4.มีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการค้าโลก (สัดส่วนของไทยอยู่ประมาณร้อยละ 1.28)”นางอรมนกล่าว
         
นางอรมนกล่าวว่า ในเรื่องนี้ สมาชิกกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งไทยเห็นว่า หลักการ S&D เป็นหลักการสำคัญ และเป็นหลักการพื้นฐานที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบการค้าโลก ทำให้เกิดความยืดหยุ่นและมีผลสำคัญต่อการหาข้อสรุปการเจรจาเรื่องต่างๆ จึงต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ขณะที่จีน อินเดีย กลุ่มแอฟริกา เห็นว่า ไม่ควรมีการจำแนกประเทศกำลังพัฒนา และเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนายังมีความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศสูง เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
         
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสมาชิก WTO ยังคงหารือกันใน 4 ประเด็นใหญ่ข้างต้น เพื่อพยายามหาข้อสรุป โดยไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นเหล่านี้หารือในอาเซียนด้วย เพื่อให้อาเซียนร่วมกันแสดงบทบาทในเรื่องการปฏิรูป WTO เพื่อปรับปรุงการทำงานขององค์กร WTO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งให้มีการปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO เพื่อให้สามารถหาข้อสรุปการเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) 6 ใน 7 ตำแหน่ง ที่จะว่างลงในเดือนธ.ค.2562 นี้ด้วย
          
นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ค.2562 ณ เมืองบีนญา เดล มาร์ สาธารณรัฐชิลี ที่ประชุมยังได้มีมติให้สนับสนุนการการดำเนินงานของ WTO ทั้งการรักษาระบบการค้าที่ยึดกฎเกณฑ์ หลักการเสริมสร้างความโปร่งใสและหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และเร่งผลักดันการเริ่มกระบวนการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่ เพื่อรักษากลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO ให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit    
 
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง