​“พาณิชย์”เร่งแก้ปัญหาหมอนยางพาราไทยเจอข้อหาใส่สารรังสี ชง สมอ. ออกมาตรฐานบังคับห้ามใช้

img

“พาณิชย์”ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน หลังเกาหลีตีพิมพ์บทความหมอนยางพาราไทยมีการแพร่กระจายสารกัมมันตรังสี เสี่ยงกระทบสุขภาพ ยันผู้ผลิตไทยไม่มีการใช้สารกัมมันตรังสี เว้นแต่ผู้รับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อ โดยอ้างว่าจะช่วยเรื่องสุขภาพ เตรียมชง สมอ. ออกมาตรฐานบังคับห้ามใช้สารรังสีในผลิตภัณฑ์ พร้อมเร่งทำความเข้าใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ป้องกันผลกระทบต่อการส่งออก

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ผู้ประกอบการหมอนยางพารา มาหารือแนวทางการผลิตสินค้าหมอนและที่นอนยางพาราที่ไม่ใส่สารกัมมันตรังสี หลังจากที่มีการตีพิมพ์บทความในประเทศเกาหลีใต้เกี่ยวกับหมอนยางพาราของไทยมีการแพร่กระจายสารเรดอนที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้กระทบต่อการส่งออกทั้งในตลาดเกาหลีและตลาดอื่นๆ

ทั้งนี้ ผลการหารือได้เสนอให้ สมอ. พิจารณาให้หมอนและที่นอนยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์บังคับ โดยกำหนดไม่ให้พบปริมาณสารรังสีในตัวผลิตภัณฑ์ หรือข้อกำหนดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งการแสดงสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากอันตรายจากกัมมันตภาพรังสี  และจะแจ้งไปยังผู้ผลิต ห้ามใช้สารดังกล่าวในกระบวนการผลิต และเร่งทำความเข้าใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

“เท่าที่ตรวจสอบจากผู้ผลิต ได้ยืนยันว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเกือบทั้งหมดไม่ได้ใช้สารกัมมันตรังสี ยกเว้นเจ้าของสินค้าจากต่างประเทศบางรายที่ส่งออเดอร์มาให้ผู้ผลิตไทยผลิต และให้ใส่แร่โมนาไซต์ในผลิตภัณฑ์ โดยอ้างว่าจะช่วยเรื่องสุขภาพ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดลมดีขึ้น แต่ล่าสุดพบว่าบริษัทรับจ้างผลิตได้ปิดกิจการหนีไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ให้ข้อเท็จจริงว่าการนำสินแร่โมนาไซด์ ซึ่งมีธาตุกัมมันตรังสีทอเรียมเป็นองค์ประกอบ หากนำไปใส่ในหมอนและที่นอน ทอเรียมจะสลายตัวเกิดธาตุกัมมันตรังสีเรดอน ซึ่งเรดอนถือเป็นก๊าซเฉื่อยที่มีสารกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส หากได้รับมากเกินจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

นายพิสิฏฐ์ สุนทราภัย นักฟิสิกส์รังสีชำนาญการพิเศษ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวว่า การนำวัสดุกัมมันตรังสีไปเติมใส่ในสินค้าอุปโภค แม้จะมีปริมาณเล็กน้อย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เว้นแต่จะได้รับการพิจารณาว่าสมเหตุสมผลและมีประโยชน์มากกว่าโทษที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีการเติมสินแร่โมนาไซด์ลงไปในหมอนถูกพิจารณาว่าไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากไม่ได้ทำให้คุณสมบัติจำเพาะของหมอนดีขึ้น จึงไม่เกิดประโยชน์ แต่มีโทษ คือ เกิดความเสี่ยงที่ผู้ใช้จะได้รับอันตรายจากรังสีในระยะยาว และที่สินแร่โมนาไซด์ในธรรมชาติได้รับการยกเว้นในการกำกับดูแล เนื่องจากมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นช่องว่างในการควบคุม แต่ ปส. พร้อมที่จะร่วมมือในการผลักดันให้เกิดระเบียบและมาตรฐานการผลิตที่ปราศจากวัสดุกัมมันตรังสี เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ผู้บริโภค และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ไทยส่งออกสินค้าประเภทเครื่องนอนและหมอนยางพาราไปเกาหลีปีละ 50 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกไปทั่วโลกประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นตลาดจีน

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง