​น้ำมันปาล์มถูก 3 ล้านขวด

img

ตามแผนที่ “กรมการค้าภายใน” วางไว้ ตั้งแต่ “สัปดาห์นี้” เป็นต้นไป จะมี “น้ำมันปาล์ม” ราคาถูก ปริมาณ 3 ล้านขวด วางจำหน่ายใน “ตลาดสด-ตลาดกลาง-พีที แมกซ์มาร์ท-สถานีบริการน้ำมัน พีที
         
เป้าหมาย เพื่อช่วยลด “ภาระค่าครองชีพ” ให้กับพี่น้องประชาชน ที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มในการปรุงอาหาร
         
สาเหตุที่ต้องนำน้ำมันปาล์มขวดมาจำหน่ายในครั้งนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มขวดในท้องตลาด ปรับตัว “สูงขึ้น”  ตาม “ต้นทุน” ปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์สูงที่ 9.00-10.40 บาท/กิโลกรัม (กก.) ทำให้ต้นทุน “น้ำมันปาล์มดิบ” ที่ใช้ในการผลิต “น้ำมันปาล์ม” ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
         
ปัจจัยที่ทำให้ปาล์มน้ำมันราคาสูง เนื่องจาก “ผลผลิต” ได้รับผลกระทบจาก “ภัยแล้ง” ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา และยังประสบ “อุทกภัย” ในพื้นที่ปลูกปาล์มภาคใต้หลายจังหวัดช่วงปลายปี 2567 ทำให้ “ทะลายปาล์มเล็ก” และ “ไม่สมบูรณ์” ส่งผลให้อัตรา “การสกัด” น้ำมันปาล์มลดต่ำลงอยู่ที่ระดับ 17% จากปกติต้อง 18% ขึ้นไป

อีกทั้ง “ผลผลิต” ยังออกสู่ตลาด “น้อยลง” ทำให้น้ำมันปาล์มเข้าสู่ตลาดลดลง “สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ” ลดลง และราคาสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อ “ต้นทุน” การผลิตน้ำมันปาล์มขวด  

เมื่อทราบถึงปัญหา “กรมการค้าภายใน” ได้เดินหน้า “ช่วยเหลือ” ประชาชนทันที โดยประสานตลาด สถานีบริการน้ำมัน เปิดจุดจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดราคาประหยัดตามที่เกร่นไว้ข้างต้น

โดยจุดจำหน่ายในตลาดสด ตลาดกลาง จะมีประมาณ 60 ตลาด
         
จุดจำหน่ายที่ พีที แมกซ์มาร์ท และสถานีบริการน้ำมัน พีที จะมีประมาณ 320 จุด
         
เบื้องต้น เริ่มในพื้นที่ “กรุงเทพฯ-ปริมณฑล” ก่อน จากนั้นจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด
         
สำหรับพี่น้องประชาชน ที่ต้องการซื้อน้ำมันปาล์มขวดราคาประหยัด สามารถตรวจสอบจุดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าภายใน ที่ www.dit.go.th
         
ส่วน “สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ” แม้ช่วงนี้จะ “ลดลง” แต่ก็ยังถือว่า “บริหารจัดการ” ได้ และไม่จำเป็นต้อง “นำเข้า” น้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ
         


การแก้ไขปัญหาจุดนี้ “นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้หารือกับ “ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่” เพื่อ “ลดการใช้” น้ำมันปาล์มเพื่อผลิต “ไบโอดีเซล” แล้ว
         
พร้อมกับ “ยืนยัน” ว่า รัฐบาล “ไม่มีนโยบาย” ในการ “นำเข้า” น้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันราคาในตลาดต่างประเทศจะต่ำกว่าราคาในประเทศถึง กก.ละ 12 บาท
         
และฝากถึง “เกษตรกร” ขอให้เบาใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์อยาก “ดูแล” ให้ขายผลผลิตได้ “ราคาดี” และอยู่ใน “เกณฑ์สูง” ต่อไป  
         
อย่างไรก็ตาม ราคาปาล์มน้ำมัน ไม่ได้จะ “ทรงตัวสูง” อยู่ตลอดไป เพราะเป็นปกติของสินค้าเกษตร ที่จะต้อง “มีขึ้น-มีลง” แต่ที่ช่วงนี้ราคายังทรงตัวสูง เพราะผลผลิตน้อย หากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาก็ต้องปรับตัวลงเป็นธรรมดา
         
ขอแจ้ง “เพื่อทราบ” กันไว้แน่เนิ่น ๆ
         
ทั้งนี้ ได้มีการ “ประเมิน” ว่า สถานการณ์ “ปาล์มน้ำมัน” และ “น้ำมันปาล์ม” จะกลับเข้าสู่ “ภาวะปกติ” ในเร็ววันนี้ เนื่องจาก “ผลผลิตปาล์มน้ำมัน” ในเดือน ก.พ.2568 เพิ่มสูงขึ้น 10-15% ทำให้มีผลผลิตเติมเข้าสู่ระบบมากขึ้น และตั้งแต่เดือน เม.ย.2568 เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปาล์มแล้ว
         
ตอนนั้น ปัญหาเรื่อง “สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ” ลดลงแน่ แต่จะมี “ปัญหาใหม่” เข้ามาแทนที่ ก็คือ ราคาปาล์มน้ำมัน ที่ “อาจจะ” ปรับตัวลดลง ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
         
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน” กล่าวว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาด และติดตามราคารับซื้ออย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตที่พี่น้องเกษตรกรจะขายได้ โดยจะมีทีมสายตรวจเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบในจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูก ตรวจสอบลานเท ตรวจสอบโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม กำชับให้มีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ ใช้เครื่องชั่งตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันการกดราคา ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร และป้องกันการโกงน้ำหนัก
         
ปัญหา “ปาล์มน้ำมัน” และ “น้ำมันปาล์ม” ไม่ว่า “ราคา” ฝั่งไหนขึ้น อีกฝั่ง ก็จะได้รับผลกระทบ



อย่างตอนนี้ ราคาปาล์มน้ำมันขึ้น เกษตรกรชอบ เพราะขายได้ราคาดี ก็ต้องดีใจแทนเกษตรกร พอปาล์มน้ำมันราคาขึ้น น้ำมันปาล์มดิบก็ขึ้นตาม ผู้ผลิตไม่ชอบ เพราะต้นทุนสูงขึ้น ผลิตน้ำมันปาล์มขวดออกมาแล้ว ไม่สามารถขายตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้นได้ง่ายนัก เพราะถูกกลไกรัฐกำกับดูแล และสุดท้ายก็จะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริโภคไม่ชอบ
         
จะเห็นได้ว่า “การบริหารจัดการ” หาก “ยึด” ฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากไป “ผลกระทบ” ก็จะไปตกกับอีกฝั่ง
         
แต่ที่ผ่านมา “กรมการค้าภายใน” บริหารจัดการโดยยึดหลัก “สมดุล” สร้างความ “เป็นธรรม” ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค ขอให้ช่วยกัน “แบกรับภาระ” คนละนิด คนละหน่อย
         
จากนี้ หากราคาปาล์มน้ำมัน “ลดลง” มาบ้าง ตามผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าราคา “ไม่ต่ำ” จนกระทบต้นทุนการผลิต เกษตรกรก็ต้องพอใจ เพราะขายได้ราคาดีก่อนหน้านี้ไปแล้ว ก็ถัว ๆ กันไป ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ แน่นอนว่าจะปรับลดลงตาม ก็ต้องดีใจแทนผู้ผลิต ที่ต้นทุนจะลดลง หลังแบกรับภาระต้นทุนมานาน สุดท้าย ราคาน้ำมันปาล์มขวด จะลดลงตาม ก็จะช่วยลดภาระผู้บริโภคลงได้

ปาล์มน้ำมัน-น้ำมันปาล์ม” มีขึ้น-มีลง มีคนได้ มีคนเสีย

หาก “เข้าใจกัน” ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้
         
ที่สำคัญ “ระบบ” จะรันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มี “ช่วงถูก-ช่วงแพง
         
แต่ถ้า “แพงเกินไป-ถูกเกินไป” ได้รับคำยืนยันจาก “กรมการค้าภายใน” ว่า มีมาตรการดูแล ทั้ง “เกษตรกร-ผู้ผลิต-ผู้บริโภค” อย่างเท่าเทียมกัน

ขอให้เบาใจได้      
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง