![img](/uploads/2025/02/67a96a494ca07.jpg)
สัปดาห์ที่ผ่านมา “กรมการค้าภายใน” ได้ส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจเฉพาะกิจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และนายตรวจชั่งตวงวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบ “การซื้อขาย” สินค้าเกษตรสำคัญ 3 ชนิด “ข้าว-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน” เพื่อ “ดูแล” เกษตรกร และ “ป้องกัน” การเอารัดเอาเปรียบ
เริ่มจาก “การลงพื้นที่” ตรวจสอบการซื้อขาย “ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง” ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันข้าวเปลือกกำลังออกสู่ตลาด
การเดินทางไปครั้งนี้ ได้ตรวจสอบโรงสี 2 แห่ง ได้แก่ โรงสี ช.สิริยี่สิบไพบูลย์ และโรงสีวัจณสุรัตน จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ข้าวเปลือกในพื้นที่ออกสู่ตลาดมาแล้วกว่า 70% เกษตรกรนำข้าวมาขายได้ 7,400-7,800 บาท/ตัน หากเป็นข้าวแห้งราคา 8,700-9,100 บาท/ตัน ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยปี 2567 ที่ราคา 11,000 บาท/ตัน แต่ราคาขายข้าวที่เกษตรกรขายได้ในขณะนี้ ใกล้เคียงเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เฉลี่ย 8,200 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาก่อนที่อินเดียงดส่งออก
“สาเหตุหลัก” ที่ราคาข้าวปรับตัวลดลง เพราะข้าวนาปรังกว่า 90% เป็น “ข้าวเปลือกเจ้า” ที่ต้อง “พึ่งพา” ตลาดส่งออก ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากประเทศคู่แข่ง คือ “อินเดีย” ที่หันกลับมาส่งออกข้าว เนื่องจากมีสต็อกข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศ จึงส่งผลให้ “ราคาข้าวขาวตลาดโลก” ลดลง และกระทบราคาข้าวขาวในประเทศปรับลดลง แต่ก็ยังเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาก่อนอินเดียมีนโยบายงดการส่งออก
ทั้งนี้ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” คาดการณ์ว่า “ผลผลิต” ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง 2568 จะมีประมาณ 6.53 ล้านตัน
โดยผลผลิตข้าวในพื้นที่ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” จะเริ่มออกสู่ตลาดมากในเดือน มี.ค.-เม.ย.2568 เป็นต้นไป กรมการค้าภายในได้เตรียม “มาตรการรับมือ” ไว้แล้ว โดยจะจัดกิจกรรม “ตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2568” เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ให้เกิดการแข่งขัน และช่วยยกระดับราคาข้าวให้เกษตรกรแล้ว
มี “พื้นที่เป้าหมาย” ประมาณ 8 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา
ไม่เพียงแต่จัดตลาดนัดข้าวเปลือก กรมการค้าภายใน จะจัดส่งสายตรวจเฉพาะกิจลงพื้นที่ ตรวจสอบการซื้อขาย การชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้นด้วย เพื่อดูแลเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม
สำหรับ “มันสำปะหลัง” ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบการรับซื้อมันสำปะหลังของผู้ประกอบการที่รับซื้อมันสำปะหลังและที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าพืชไร่ ปีการผลิต 2568 ที่ จ.นครราชสีมา และชัยภูมิ พบว่า ผู้ประกอบการให้ “ความร่วมมือ” ในการ “ปฏิบัติตามกฎหมาย” อย่างเคร่งครัด ทั้งการ “แสดงราคารับซื้อ” ที่ชัดเจนและเปิดเผย ใช้ “เครื่องชั่งน้ำหนัก” และ “เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้ง” ที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
ส่วนสถานการณ์ด้านราคา ยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 1.9-2.20 บาท/กิโลกรัม (กก.) ที่เปอร์เซ็นต์เชื้อแป้ง 25% โดยได้กำชับเกษตรกร ให้ “เก็บเกี่ยว” มันสำปะหลังที่ครบอายุ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ พร้อมกำชับ “ผู้รับซื้อ” ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการปิดป้ายราคารับซื้อ การชั่งน้ำหนัก และการวัดเชื้อแป้ง และต้อง “หมั่นเปลี่ยนน้ำ” ที่ใช้สำหรับ “การวัดเชื้อแป้ง” อย่างน้อยหลังจากการวัดเชื้อแป้งแล้ว 4-5 ครั้ง เพื่อไม่ให้มี “สิ่งเจือปน” หรือ “ดิน” อยู่ในน้ำที่จะเป็นสาเหตุทำให้เปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งที่วัดได้ต่ำลง
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์การรับซื้อ “ปาล์มน้ำมัน” ของผู้ประกอบการ “โรงสกัด” และ “ลานเท” ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และกระบี่ พบว่า ผู้ประกอบการให้ “ความร่วมมือ” ในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการแสดง “ราคารับซื้อ” ที่ชัดเจนและเปิดเผย และใช้ “เครื่องชั่งน้ำหนัก” ที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมกำหนด
โดยราคารับซื้อถือว่าอยู่ใน “เกณฑ์สูง” ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% จะขายได้ 9.80–10.00 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการลงพื้นที่ ได้กำชับให้ “สำนักงานพาณิชย์จังหวัด” และ “ผู้ประกอบการโรงสกัด” เตรียมความพร้อมและวางแผนการบริหารจัดการให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหารถติดคิว หรือปาล์มค้างลาน เพื่อ “เตรียมรับมือ”ผลผลิตที่จะออกมาช่วง เม.ย.-มิ.ย.2568 เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน
“นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน” บอกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้ง “ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน” กำลังออกสู่ตลาด “นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้กรมกำกับดูแลการซื้อขายให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทย
“จะส่งทีมสายตรวจเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับอธิบดี รองอธิบดี และระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อกำกับดูแลการซื้อขาย ไปจนจบฤดูกาล”
ทั้งนี้ หากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขาย หรือพบเห็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ไม่แสดงราคารับซื้อ เอาเปรียบเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้น การวัดเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้ง สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายในหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบทันที หากพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด
กรมการค้าภายในประกาศชัดเจน “อย่าคิด” เอาเปรียบเกษตรกร
เพราะงานนี้ “จับจริง-ปรับจริง-เอาเข้าคุกจริง”
ใครไม่เชื่อ “ก็ลองดู”
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง