“กรมการค้าต่างประเทศ” รายงานสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณ 8.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.32% มูลค่า 191,031 ล้านบาท หรือประมาณ 5,411 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.81%
ตามข้อมูล “ชนิดข้าว” ที่ส่งออกมากที่สุด คือ “ข้าวขาว” ปริมาณ 5.18 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย 16.40% ข้าวนึ่ง 12.10% ข้าวหอมไทย 6.47% ข้าวเหนียว 2.75% และข้าวกล้อง 0.24%
จากรายงานข้อมูลราคา FOB ส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยของ “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ในช่วง 10 เดือน พบว่า “ข้าวหอมมะลิ (ข้าวใหม่)” ราคาเฉลี่ย 935 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 7.59% “ข้าวหอมปทุมธานี (ข้าวหอมไทย)” ราคาเฉลี่ย 875 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 24.64% ซึ่ง “ทำสถิติ” ราคาปรับตัวขึ้น “สูงสุด” ในบรรดาข้าวทุกชนิด “ข้าวขาว” ราคาเฉลี่ย 603 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 11.67% “ข้าวนึ่ง” ราคาเฉลี่ย 601 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 10.89% และ “ข้าวเหนียว” ราคาเฉลี่ย 818 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 0.62%
ทั้งนี้ เมื่อราคาข้าวส่งออกเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลดีต่อ “ราคาข้าวเปลือก” ในประเทศ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยข้อมูลจาก “กรมการค้าภายใน” แจ้งว่า “ข้าวเปลือกหอมมะลิ” ราคาเฉลี่ย 15,547 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 7.85% “ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี (ข้าวหอมไทย)” ราคาเฉลี่ย 14,928 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 29.16% “ข้าวเปลือกเจ้า (ข้าวขาว/ข้าวนึ่ง)” ราคาเฉลี่ย 11,686 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 9.87% และ “ข้าวเปลือกเหนียว” ราคาเฉลี่ย 13,661 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 6.70%
สำหรับ “ปัจจัย” ที่ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทย “ปรับตัวสูงขึ้น” มีสาเหตุหลัก ๆ จาก
1.การดำเนินมาตรการ “ควบคุมการส่งออกข้าว” ของอินเดีย ทั้งการ “ระงับการส่งออกข้าวขาว” ตั้งแต่เดือน ก.ค.2566 และ “การเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง” ตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ต.ค.2567 ส่งผลให้ “ภาพรวมราคาส่งออกข้าวในตลาดโลก” ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
2.ความต้องการนำเข้าข้าว ของประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญที่มีอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย อิรัก และฟิลิปปินส์ เพื่อ “ใช้บริโภค” และ “เก็บสต็อก” เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อบรรเทา “ผลกระทบจากภัยแล้ง” ที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงบรรเทาผลกระทบจาก “เงินเฟ้อด้านอาหาร” โดยผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดลงกว่า 0.88 ล้านตัน และ 0.30 ล้านตัน ตามลำดับ รวมถึงตลาดสหรัฐฯ ที่มีความต้องการข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
3.ปริมาณ “ผลผลิต” ข้าวของไทย “เพียงพอ” พร้อมตอบสนอง “ความต้องการ” ของตลาดข้าวโลก โดยมีศักยภาพและมีความพร้อมในการส่งมอบข้าวให้ผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง
“นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” บอกว่า “ผลสำเร็จ” ของการส่งออกข้าวไทยในช่วง 10 เดือน ปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นทั้ง “ปริมาณ” และ “มูลค่า” เป็นผลมาจาก “นโยบาย” และ “ข้อสั่งการ” ให้ทำตลาดเชิงรุกของ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์”
โดยกรมได้ “รับลูก” และ “จัดกิจกรรม” ส่งเสริมการส่งออก ทั้ง “การกระชับความสัมพันธ์” และ “จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทย” ในประเทศคู่ค้าข้าวสำคัญ ทั้ง “อินโดนีเซีย-จีน-ฟิลิปปินส์” รวมทั้ง “เข้าร่วมงานแสดงสินค้า” ในต่างประเทศ เพื่อ “เพิ่มโอกาส” และ “ขยายช่องทางตลาด” ของข้าวไทย และจัดงาน Thailand Rice Convention (TRC) สัญจร ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ให้ทราบถึง “ความต้องการ” ของตลาดโลก เพื่อให้ “ปลูก” และ “ผลิตข้าว” ได้ตรงตามที่ตลาดต้องการ
ส่วนปี 2568 ได้ “เตรียมแผน” ขยายตลาดส่งออกข้าวไว้ล่วงหน้า เพราะปีหน้า มี “หลายปัจจัย” ที่คาดว่าจะ “กระทบ” ต่อการส่งออกข้าว ทั้งอินเดียกลับมาส่งออก ผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้นำเข้ารายสำคัญมีแนวโน้มลดการนำเข้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ค่าระวางเรือ และอัตราแลกเปลี่ยน ที่ยังต้องจับตา
โดยมีแผนผลักดันการส่งออกครอบคลุมทั้ง “การรักษาตลาดเดิม” เช่น แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ และ “การรุกตลาดใหม่” รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ยุโรป แคนาดา และภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกัน มีแผนการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) เพื่อให้คนในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล และเจรจาธุรกิจระหว่างกัน
นอกจากนี้ จะผลักดันให้ไทย “ลดต้นทุน” การผลิตข้าว และ “พัฒนาพันธุ์ข้าว” ให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา รวมถึง “การวิจัย” และ “พัฒนาพันธุ์ข้าว” ให้หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตลาด ตลอดจนการปรับเปลี่ยนไปสู่ “การปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ” เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รองรับมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าข้าวในอนาคต
ทั้งหมดนี้ นางอารดาย้ำว่า มี “เป้าหมาย” เพื่อเพิ่ม “ขีดความสามารถ” ในการแข่งขันของข้าวไทยให้ไทยคงความเป็น “ผู้นำ” ด้านการส่งออกข้าวคุณภาพดีในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลดีต่อเกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ราคาดีขึ้นในระยะยาว
ส่วนการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2567 “กรมการค้าต่างประเทศ” และ “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ประเมินร่วมกันว่า จะทำได้สูงถึง 9 ล้านตัน มูลค่า 230,000 ล้านบาท
เห็นตัวเลขแบบนี้ ดีใจแทน “ชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออก”
เพราะผลพวงจาก “ปริมาณข้าว” ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น และ “ราคาข้าว” ที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลดีต่อ “อุตสาหกรรมข้าวไทย” ทั้งระบบ
กล่าวคือ เมื่อ “ส่งออก” ได้มากขึ้น และ “ราคา” ดีขึ้น “ผู้ส่งออก” ก็จะไปซื้อ “ข้าวสาร” จาก “โรงสี” ในราคาสูงขึ้น จากนั้น “โรงสี” ก็จะไปซื้อ “ข้าวเปลือก” จาก “ชาวนา” สูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลดีกันไปเป็นทอด ๆ
ปีนี้ ได้ลุ้นเป็น “ปีทอง” ของข้าวไทยอีกปีหนึ่ง
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง