ปี 2567 มี “นิติบุคคล” ที่ต้องนำส่ง “งบการเงิน” ทั้งหมด 835,011 ราย แบ่งเป็นเป็นนิติบุคคลที่มี “รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566” จำนวน 671,823 ราย หรือคิดเป็น 80% ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่งงบการเงิน และอีก 20% หรือจำนวน 163,188 ราย จะเป็นนิติบุคคลที่มี “รอบปีบัญชีแตกต่างกันออกไป”
ข้อมูลจาก “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ณ วันที่ 27 มิ.ย.2567 มี “นิติบุคคล” นำส่ง “งบการเงิน” แล้วทั้งสิ้น 660,586 ราย คิดเป็น 79% ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่งในปีนี้
เมื่อเจาะลึกนิติบุคคล ที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 และต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายในวันที่ 31 พ.ค.2567 ที่มีอยู่ทั้งหมด 671,823 ราย พบว่า มีการนำส่งงบการเงินเพียง 581,856 ราย คิดเป็น 86.6% ของนิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงินทั้งหมด ยังขาดอีก 89,967 ราย หรือประมาณ 13.39%
ตอนนี้ ทั้ง 89,967 ราย ถือว่า “มีความผิด” ตามกฎหมายแล้ว และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะส่งหนังสือ “แจ้งข้อกล่าวหาทุกราย” และ “อัตราค่าปรับ” จะ “เพิ่มขึ้น” ตามระยะเวลาที่ล่าช้าออกไป
สำหรับนิติบุคคลอีก 20% ที่มีรอบบัญชีแตกต่างกันออกไป หรือจำนวน 163,188 ราย ก็ต้อง “นำส่ง” งบการเงินตามระยะเวลาที่ “กฎหมายกำหนด” เช่นเดียวกัน ดังนี้
“ห้างหุ้นส่วน” ต้องนำส่งงบการเงินภายใน 5 เดือน นับแต่วันปิดรอบบัญชี
“บริษัทจำกัด” และ “บริษัทมหาชนจำกัด” ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญภายใน 4 เดือน นับแต่วันปิดรอบปีบัญชี โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่จัดประชุมใหญ่ ส่วนบริษัทมหาชนจำกัดจะต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บมจ.006) ภายใน 1 เดือนนับแต่วันเสร็จการประชุม หลังจากนั้น ทั้งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด จะต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่งบการเงินได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น
ส่วน “สมาคมการค้า” และ “หอการค้า” มีหน้าที่นำงบดุลเสนอเพื่ออนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่ภายใน 120 วัน และต้องนำส่งงบดุลนั้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 30 วัน
“นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” กล่าวว่า ขอความร่วมมือนิติบุคคลนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing เพราะจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากงบการเงินที่กรมเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ภาครัฐสามารถนำข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปประเมินทิศทางและวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้ทันที
ทั้งนี้ เห็นได้จากในอดีต งบการเงินที่ยื่นในรูปแบบเอกสาร กว่าจะนำไปวิเคราะห์ หรือประมวลผล จะใช้เวลานาน ทำให้เสียโอกาสในทางธุรกิจ
ที่สำคัญการส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการบริหารจัดการเอกสาร ทั้งด้านสถานที่จัดเก็บ และการดูแลรักษา รวมทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ลดปริมาณการใช้กระดาษ และช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
ส่วนปี 2566 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำข้อมูลนิติบุคคลที่ยื่นส่งงบการเงิน 581,856 ราย มาทำการ “วิเคราะห์” แล้ว พบว่า ทั้ง 581,856 ราย มี “รายได้” รวมกันถึง 57.86 ล้านล้านบาท และมี “ผลกำไร” กว่า 2.34 ล้านล้านบาท
ในจำนวนนี้ หากแยกเป็นรายกลุ่มธุรกิจ พบว่า “กลุ่มภาคการผลิต” ทำรายได้สูงสุดที่ 23.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.00% ของรายได้ทั้งหมด และมีผลกำไร 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.03% ของกำไรสุทธิทั้งหมด รองลงมา คือ “กลุ่มภาคขายส่งปลีก” ทำรายได้ 23.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.30% ทำกำไรอยู่ที่ 0.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.57% และ “กลุ่มภาคบริการ” ทำรายได้จำนวน 10.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.70% และทำกำไรจำนวน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.40%
หากแยกเป็น “รายธุรกิจ” พบว่า 10 อันดับที่ทำรายได้สูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม รายได้ 3.84 ล้านล้านบาท 2.ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ รายได้ 3.12 ล้านล้านบาท 3.ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ รายได้ 2.39 ล้านล้านบาท 4.ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล รายได้ 1.56 ล้านล้านบาท 5.ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ รายได้ 1.55 ล้านล้านบาท 6.ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคล รายได้ 1.45 ล้านล้านบาท 7.ธนาคารพาณิชย์ รายได้ 1.11 ล้านล้านบาท 8.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รายได้ 1.07 ล้านล้านบาท 9.ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน รายได้ 1.02 ล้านล้านบาท และ 10.ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว รายได้ 0.96 ล้านล้านบาท
นี่คือ “ตัวอย่าง” ของผลประโยชน์ที่ “เกิดขึ้น” จากการนำงบการเงินมาวิเคราะห์ โดยไม่เพียงทำให้ “เห็นภาพ” ว่าธุรกิจไหน เป็นอย่างไร รายได้ ผลประกอบการเป็นอย่างไร แต่ยังทำให้ภาครัฐเห็นข้อมูลและจะได้กำหนดนโยบายส่งเสริมได้อย่างถูกต้องด้วย
ดังนั้น “นิติบุคคล” รายใด ที่ยัง “ไม่นำส่ง” งบการเงิน ก็ขอให้รีบส่งตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาด ทำงบการเงินไม่ทัน หรือจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ ก็ให้รีบส่ง เพื่อหลีกเลี่ยง “ค่าปรับ” ในอัตราที่เพิ่มขึ้น
แต่ถ้ายัง “ดื้อดึง” และ “ไม่นำส่ง” หรือ “เพิกเฉย” ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” มีสิทธิ์ยื่นถอน “ทะเบียนร้าง” และ “ขีดชื่อธุรกิจ” ออกจาก “ฐานข้อมูลนิติบุคคล” ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถ “ดำเนินกิจการ” ภายใต้ชื่อนั้น ๆ ได้อีก
รีบทำให้ “ถูกต้อง”
เดี๋ยวจะหาว่า “ไม่เตือน”
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง