​10 อันดับสินค้า GI ส่งออก-ขายในประเทศ

img

สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ให้ความสำคัญ และต้องการที่จะ “ส่งเสริม” และ “ผลักดัน” ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
         
เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ สินค้าเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ผลิตในแหล่งผลิตเฉพาะ เป็นของดีชุมชน ของขึ้นชื่อท้องถิ่น เป็นสินค้าที่มีเรื่องเล่า มีภูมิปัญญา มีวัฒนธรรม และมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่เป็น “จุดขาย” จนทำให้เป็นสินค้าที่ “โดดเด่น-แตกต่าง” จากสินค้าชนิดเดียวกัน
         
ปัจจุบัน “กระทรวงพาณิชย์” โดย “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 205 รายการ ตอนนี้ทุกจังหวัดล้วนแต่มีสินค้า GI ขึ้นชื่อเป็นของตัวเอง และยังสามารถผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI ในตลาดต่างประเทศได้แล้ว 8 รายการ
         
ทุกวันนี้ สินค้า GI ยัง “ทำเงิน-ทำรายได้” ให้กับ “ผู้ผลิต” และ “เกษตร” อย่างต่อเนื่อง กรมทรัพย์สินทางปัญญาประเมินคร่าว ๆ ว่า น่าจะสร้าง “มูลค่าการตลาด” รวมกันกว่า 71,000 ล้านบาทต่อปี และน่าจะเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ
         
ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เจาะลึกสถิติ “การส่งออก-การขายในประเทศ” ของสินค้าที่ GI ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ “เห็นภาพ” สินค้า GI ตัวไหนโดดเด่น สินค้า GI ตัวไหนมีอนาคต และสินค้า GI ตัวไหนที่จะต้องเร่งส่งเสริมและผลักดันเพิ่มขึ้น
         
สำหรับสินค้า GI ที่ส่งออกและทำเงินเข้าประเทศได้มาก 10 อันดับแรก ได้แก่
         
อันดับ 1 ทุเรียนหมอนทองระยอง เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 15,645 ล้านบาท มีตลาดสำคัญ คือ จีน

อันดับ 2 ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 4,890.2 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ จีน และมาเลเซีย



อันดับ 3 มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มูลค่า 285 ล้านบาท ตลาดส่งออก คือ จีน สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส

อันดับ 4 มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว 107 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ ฮ่องกง
         
อันดับ 5 มังคุดทิพย์พังงา มูลค่า 80.12 ล้านบาท ตลาด คือ จีน และเวียดนาม

อันดับ 6 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า (จ.ฉะเชิงเทรา) มูลค่า 35 ล้านบาท ตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

อันดับ 7 กล้วยหอมทองเพชรบุรี มูลค่า 24 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น

อันดับ 8 ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร มูลค่า 10.4 ล้านบาท ตลาดจีน

อันดับ 9 กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก มูลค่า 10 ล้านบาท ตลาดซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี บรูไน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์

อันดับ 10 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มูลค่า 9.45 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย

ส่วนสินค้า GI ที่ขายดีและทำรายได้สูงสุดสำหรับตลาดในประเทศ 10 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ทุเรียนหมอนทองระยอง มูลค่า 20,530.8 ล้านบาท

อันดับ 2 ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 6,661.2 ล้านบาท

อันดับ 3 น้ำตาลโตนดเมืองเพชร มูลค่า 4,813 ล้านบาท

อันดับ 4 กล้วยหอมทองปทุม มูลค่า 3,268 ล้านบาท

อันดับ 5 มะนาวเพชรบุรี มูลค่า 3,061.4 ล้านบาท

อันดับ 6 กุ้งก้ามกรามบางแพ (จ.ราชบุรี) มูลค่า 2,570 ล้านบาท

อันดับ 7 ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ มูลค่า 2,360.5 ล้านบาท



อันดับ 8 ข้าวหอมมะลิพะเยา มูลค่า 1,969.7 ล้านบาท

อันดับ 9 ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา มูลค่า 1,579.2 ล้านบาท

อันดับ 10 มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว (จ.สมุทรสาคร) มูลค่า 1,460 ล้านบาท
         
น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สินค้า GI ที่ส่งออกเป็นผลไม้ทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลไม้ไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั่วโลก แต่การเป็นสินค้า GI ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ส่วนสินค้า GI ที่มียอดขายในประเทศสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นผลไม้และสินค้าเกษตร 
         
ทั้งนี้ สินค้า GI ที่ “ครองแชมป์” และ “รองแชมป์” ทั้งส่งออกและขายในประเทศ เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน คือ ทุเรียนหมอนทองระยอง และอันดับที่ 2 ก็ยังเป็นสินค้าเดียวกัน คือ ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา    

สำหรับสินค้า GI ที่ยังมีมูลค่าส่งออกน้อย น.ส.กนิษฐา บอกว่า กรมจะร่วมมือกับ “ทูตพาณิชย์ไทย” ในต่างประเทศ และ “พาณิชย์จังหวัด” ทั่วประเทศ ร่วมมือกันทำตลาดและหาตลาดใหม่ ๆ ให้กับสินค้า GI รวมทั้งจะทำระบบตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และเดินหน้าส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จากการที่ผู้เขียนได้ติดตาม “การส่งเสริม” และ “ผลักดัน” การขึ้นทะเบียนสินค้า GI ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าเริ่ม “ผลิดอก-ออกผล” บางสินค้า “โกอินเตอร์” ออกไปทำตลาดต่างประเทศ บางสินค้า มูลค่าเพิ่มขึ้น “หลายร้อยเปอร์เซ็นต์” จนทำให้ “ผู้ผลิต-เกษตรกร” มีรายได้เพิ่มขึ้นจริง รวยขึ้นจริง
         
มาถูกทางแล้ว ลุยต่อให้สุด
         
ยังมี “ของดี-ของเด่น” อีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้เจียระไน และรอวัน “เฉิดฉาย” อยู่
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง