​ลุ้นปีทอง “ทุเรียนภาคใต้”

img

ขณะนี้ “ทุเรียนภาคตะวันออก” ผลผลิตได้ทยอย “ออกสู่ตลาด” เกือบหมดแล้ว จะเหลือตกค้างก็เพียงเล็กน้อย และกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลของ “ทุเรียนภาคใต้” ที่จะเริ่มออกตั้งแต่เดือน ก.ค.2567 เป็นต้นไป
         
ปีนี้ “ราคาทุเรียน” ภาคตะวันออก ต้องบอกว่าดีมาก เกรด AB อยู่ที่ 165-170 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงสุด 175-180 บาท/กก. ปีที่แล้ว 150 บาท/กก. เกรดตกไซส์ 110-120 บาท/กก. ปีที่แล้ว 90-100 บาท/กก.
         
ตอนนี้ ผู้ประกอบการ ทั้ง “ล้ง ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม” ได้เก็บข้าวเก็บของพากันลงใต้ไปเกือบหมดแล้ว เพื่อเตรียม “รับซื้อ” ทุเรียนที่กำลังจะออกสู่ตลาด
         
สุดสุปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 14 มิ.ย.2567 “นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ก็เพิ่งลงใต้ ไปที่ จ.ชุมพร ไปติดตามสถานการณ์ “ผลผลิต” และ “การซื้อขายทุเรียน” เพื่อดูความพร้อมก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด 

พบว่า “ล้งทุเรียน” เปิดทำการแล้วกว่า 70% และยังได้สำรวจ “ตลาดมรกต” ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ พบว่า เริ่มมีความคึกคัก แผงค้าในตลาดเปิดรับซื้อแล้วเต็ม 100%
         
ส่วน “สถานการณ์ราคา” ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะมี “ฐานราคา” จากทุเรียนภาคตะวันออกเป็น “ตัวตั้ง” โดยเกรด AB อยู่ที่ 165-170 บาท/กก. เกรด C อยู่ที่ 120-125 บาท/กก. และเกรด D อยู่ที่ 100-110 บาท/กก.
         
ปีนี้ “ทุเรียนภาคใต้” คาดว่า จะมีผลผลิตรวม 670,987 ตัน เพิ่มขึ้น 58,567 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 10% ดูแล้วไม่มากไม่น้อย แต่ที่โชคดีไปกว่านั้น ก็คือ ผลผลิตมีคุณภาพดี และออกไม่พร้อมกัน แต่น่าจะเยอะสุดช่วงเดือน ส.ค.2567
         
นายสุชาติ บอกว่า กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามสถานการณ์การซื้อขายทุเรียนอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการกดราคารับซื้อ หรือฮั้วราคาซื้อ และขอให้แผงค้า ล้ง แสดงราคารับซื้อให้ชัดเจน ใช้เครื่องชั่งมาตรฐาน โดยจะมีทีมเข้าตรวจสอบต่อเนื่อง และหากพบว่ามีปัญหา ก็จะเข้าไปดูแลทันที โดยมี “มาตรการบริหารจัดการผลไม้และพืชเศรษฐกิจตัวรอง ปี 2567” เตรียมพร้อมไว้แล้ว
         


ล่าสุด ยังมี “ข่าวดี” สำหรับทุเรียนภาคใต้ เมื่อ “คู่แข่ง” ส่งออกทุเรียนรายสำคัญอย่าง “เวียดนาม” ถูก “จีน” ตรวจพบสารตกค้างโลหะหนัก “แคดเมียม” ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.2567 และได้ระงับ “การนำเข้า” ทุเรียนจากเวียดนาม
         
ประเด็นเรื่องนี้ “นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์” ออกมาเปิดเผยว่า “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่ม “ความเข้มงวด” ในการ “ตรวจสอบ” เพื่อรักษา “คุณภาพ-มาตรฐาน” ของทุเรียนไทย และสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศแล้ว
         
เพราะฉะนั้น “เบาใจ” ได้เลยว่า ทุเรียนไทย จะไม่มีปัญหาเหมือนทุเรียนเวียดนามแน่นอน
         
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม ได้สั่งทำแผน “บริหารจัดการ” เรื่องทุเรียน ตั้งแต่ต้นฤดูก่อนการเก็บเกี่ยว โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมคุณภาพ ป้องกันสารตกค้าง และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวทุเรียนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน และทำให้มั่นใจได้ว่าทุเรียนไทยมีคุณภาพและผ่านข้อบังคับ กฎระเบียบต่าง ๆ ของจีนไปเรียบร้อยแล้ว และมาย้ำอีก เมื่อเวียดนามเจอปัญหา ไม่อยากให้ไทยมีปัญหา เพราะกำลังเข้าสู่ฤดูการผลิตของทุเรียนภาคใต้
         
ไม่เพียงแค่นี้ ช่วงเดือน เม.ย.2567 ที่ผ่านมา ยังได้เดินทางไปสำรวจ “ด่านชายแดน” ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและติดกับจีน อย่าง “ด่านโม่หาน” ของจีน และ “ด่านบ่อเต็น” ของสปป.ลาว

พร้อมมอบหมายให้ “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” เดินทางไป “ด่านหูหงิ” ของเวียดนาม และ “ด่านโหยวอี้กวน” ของจีน ซึ่งเป็นด่านสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปจีน เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนทุเรียนภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาด



ผลที่เกิดขึ้น “การส่งออกทุเรียน” จากไทยไปจีนผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีปัญหา “ติดขัด” แม้แต่นิดเดียว ไม่มี “เสียงบ่น” มีแต่ “เสียงชม” ว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมการได้ดีมาก
         
อีกด้าน ผลจากการที่ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนได้ “เพิ่มขึ้น-สะดวกขึ้น” ยังส่งผลให้ราคา “ทุเรียนภาคตะวันออก” ในปีนี้ ถือเป็น “ปีทอง” อีกปีของชาวสวนเลยก็ว่าได้ เพราะราคาเกรด AB เฉลี่ยอยู่ที่ 165-170 บาท/กก. และเคยขึ้นไปสูงสุด 175-180 บาท/กก. อย่างที่เกร่นไว้ข้างต้น
         
กลับมาที่ “ทุเรียนภาคใต้” ตอนนี้เริ่มต้นฤดูกาลแล้ว ราคาก็ยังยึดฐานราคาจากทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเลยทีเดียว 
         
แต่ก็อยากจะ “ฝากถึง” ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ให้ช่วยกันควบคุม “คุณภาพ-มาตรฐาน” อย่าตัด “ทุเรียนอ่อน” อย่าให้มี “สารปนเปื้อน” เพราะจะกระทบต่อการส่งออก และจะกระทบต่อราคาที่เกษตรกรจะขายได้
         
หากทำได้ตามนี้ บวกกับ “กระทรวงพาณิชย์” ที่มีมาตรการดูแลเตรียมพร้อมไว้แล้ว บวกกับมีมาตรการส่งเสริมและขยายตลาดทุเรียนไทยในจีน ทำให้จีนมีความต้องการทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 
         
ปีนี้ เห็นแววว่าจะเป็น “ปีทอง” ของชาวสวนทุเรียนภาคใต้

เหมือนกับที่เคย “เกิดขึ้นแล้ว” กับทุเรียนภาคตะวันออก ก็เป็นไปได้
         
เรามา “รอลุ้น” ไปพร้อม ๆ กัน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง