​“ทีมพาณิชย์” พลิกโฉมงานพาณิชย์

img

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใน “กระทรวงพาณิชย์” ที่น่าสนใจข่าวหนึ่ง ก็คือ การจัดตั้ง “คณะกรรมการบูรณาการนโยบายเชิงรุกกระทรวงพาณิชย์” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ทีมพาณิชย์
         
การจัดตั้งทีมพาณิชย์นี้ เป็นดำริของ “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ที่เล็งเห็นว่า กระทรวงพาณิชย์ มี “ภารกิจหลัก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้มีความเข้มแข็ง มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส” ในการประกอบอาชีพของระชาชน เกษตรกร และภาคธุรกิจ และต้องบริหารให้เกิด “ความสมดุล” กับทุกฝ่าย และ “เกิดประโยชน์” ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
         
อีกทั้ง ยังต้องการให้เกิดการ “บูรณาการการทำงาน” ของกระทรวงพาณิชย์ และต้องการ “ขับเคลื่อนงาน” แบบเป็นทีม
         
จึงเป็นที่มา ของการตั้งทีมพาณิชย์ชุดนี้ และมีผู้ร่วมทีมทั้งสิ้น 21 คน
         
ทีมพาณิชย์ มี “นายภูมิธรรม” เป็นประธาน “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” เป็นรองประธานคนที่ 1 “นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์” เป็นรองประธานคนที่ 2

ที่ปรึกษา ประกอบด้วย นายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี , ศ.รุธิร์ พนมยงค์ , ศ.ปาริชาต สถาปิตานนท์ , รศ.พสุ เดชะรินทร์ , รศ.สถาพร โอภาสานนท์ และนายเสรี นนทสูติ

กรรมการ ประกอบด้วย นายกองตรี พิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นายกฤษฏา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ , น.ส.สุนันทา กังวานกุลกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ , นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ , นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ , นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน , น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ , นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา , นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า , นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เป็นกรรมการและเลขานุการ



หน้าที่ของทีมพาณิชย์ จะทำหน้าที่กำหนดกรอบ “นโยบาย” และ “ยุทธศาสตร์” แนวทาง “การดำเนินงาน” และ “มาตรการ” ในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงพาณิชย์ และ “กำกับดูแล ติดตาม ขับเคลื่อนงาน” ให้สัมฤทธิ์ผล ออกระเบียบ ประกาศ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษา

จากนั้น นายภูมิธรรม ได้นัดประชุมคณะกรรมการนัดแรก วันที่ 30 พ.ย.2566 หลังจากเซ็นตั้งทีมได้เพียง 1 วัน คือ วันที่ 29 พ.ย.2566

งานแรก คือ มีมติแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการ” จำนวน 9 ชุด ประกอบด้วย
         
1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย
         
2.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน-อาเซียน
         
3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์ เพาเวอร์
         
4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า
         
5.คณะอนุกรรมการพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ Big data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า
         
6.คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงพาณิชย์
         
7.คณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่
         
8.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อการพาณิชย์
         
9.คณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์กระทรวงพาณิชย์
         
นายภูมิธรรม บอกว่า คณะอนุกรรมการทั้ง 9 ชุดที่แต่งตั้งขึ้น จะทำงานครอบคลุมทุกด้านที่เป็น “งานสำคัญ” และ “งานเร่งด่วน” ของกระทรวงพาณิชย์ โดยหลักการทำงาน จะทำงานกันเป็นทีม เพื่อให้ทำงานได้ครบถ้วน และจะเป็นฐานให้คณะชุดใหญ่ขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         


สำหรับวิธีการทำงาน “นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” อธิบายว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการแต่ละชุด จะมี “ที่ปรึกษา” หรือระดับ “อธิบดี” เป็น “หัวหน้าทีม” ในการขับเคลื่อนงาน และมีข้าราชการจากกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ มาเป็น “ลูกทีม” ซึ่งจะทำให้การทำงานจะมีการ “บูรณาการ” เข้าด้วยกัน  
         
ยกตัวอย่าง เรื่อง SMEs ที่ทุกกรมในกระทรวงพาณิชย์ แทบจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มาก ก็น้อย ตั้งแต่เริ่มต้นสร้าง SMEs ต่อมาช่วยเสริมแกร่งด้วยการให้ความรู้ และตามด้วยช่วยทำตลาด เริ่มจากในประเทศ และขยายส่งออกไปต่างประเทศ ก็ต้องมาทำงานร่วมกันว่าจะช่วยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางได้อย่างไร
         
หรือเรื่อง Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ก็มีหลายกรมที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องมาวางแผนร่วมกันว่าจะบูรณาการกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น “อาหารไทย-ดิจิทัลคอนเทนต์-มวยไทย-สินค้าอัตลักษณ์-สุขภาพและความงาม” อะไรทำนองนี้
         
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ลักษณะการทำงาน ก็เช่นเดียวกัน คนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญจากแต่ละกรม จะเข้ามาทำงานร่วมกัน และขับเคลื่อนงานร่วมกัน
         
จากนั้น การขับเคลื่อนงานในแต่ละเรื่อง ถ้าไปเกี่ยวข้องกับ “ภาครัฐ-ภาคเอกชน” ก็จะขยายวงไปสู่ภาครัฐ-ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งาน “สมบูรณ์แบบ”  

การจัดตั้ง “ทีมพาณิชย์” ที่เกิดขึ้น เป็นการ “พลิกโฉม” งานพาณิชย์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เพราะกล้าที่จะทลาย “กรอบการทำงาน” กล้าที่จะทลาย “กรอบกั้น” ระหว่างหน่วยงาน แล้วดึงให้คนมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคน ต่างทำ หรือ “กรมฉัน-กรมเธอ” เหมือนเมื่อก่อน

ส่วนจะ “ดีหรือไม่ดี” จะ “เวิร์กหรือไม่เวิร์ก

ก็ต้องมา “ติดตาม” กันต่อไป
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด