​“ภูมิธรรม” ดันพาณิชย์ยุคใหม่

img

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้รับเชิญไปปาฐกถาพิเศษในงาน “สัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41” ซึ่งเป็นปกติที่การประชุมทุกปี จะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปร่วมงานและปาฐกถาพิเศษ และครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกัน 
         
ในการปาฐกถาครั้งนี้ นายภูมิธรรม ได้แสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อเรื่อง “พาณิชย์ยุคใหม่ การค้าไทยเชื่อมโลก” พร้อมชี้ให้เห็นว่า “พาณิชย์ยุคใหม่” หน้าตาจะเป็นยังไง และมีภารกิจยังไง
         
สรุปความได้ว่า “พาณิชย์ยุคใหม่” จะมีการใช้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” และ “นวัตกรรม” เพื่อเพิ่ม “ประสิทธิภาพ” และขยาย “โอกาสทางการค้า” และ “การลงทุน” ของไทยในเวทีโลก
         
จะ “คำนึงถึง” กติกาการค้าของโลกยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแล “สิ่งแวดล้อม-การพัฒนาอย่างยั่งยืน-เศรษฐกิจสีเขียว
         
จะ “คิดนอกกรอบ” ด้วยความอาจหาญที่จะปรับปรุง “ข้อกฎหมาย” และ “กฎระเบียบต่าง ๆ” ด้วยการศึกษาและปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน
         
จะ “เป็นพี่ใหญ่ดูแลน้อง” ด้วยการนำคนตัวใหญ่ช่วยเหลือคนตัวเล็ก นำผู้ประกอบการมาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งระดับบุคคล องค์กร และประเทศ
         
จะ “ขับเคลื่อนการค้าของไทย” ให้เชื่อมกับโลก ด้วยการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดสมดุลทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ
         
สำหรับ “แนวทาง” ในการขับเคลื่อน ประกอบไปด้วย 3 ภารกิจหลัก ได้แก่
         


1.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ผ่านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการค้าและการลงทุนในยุคดิจิทัล การประสานให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อ การสร้างเครือข่ายธุรกิจและการส่งเสริมนวัตกรรม
         
2.การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ผ่านการพัฒนากฎระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ ให้ทันสมัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าและคู่ลงทุน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน
         
3.การส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาคและตลาดโลก ผ่านการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการของไทย เช่น กำหนดยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน และการพัฒนาร้านอาหาร Thai SELECT ให้เป็นโชว์รูมประเทศไทย
         
นอกจากนี้ จะบูรณาการใช้ “ทีมพาณิชย์” เป็นกลไกขับเคลื่อนร่วมกับ “ทีมไทยแลนด์” เพื่อช่วยกัน “รักษาตลาดเดิม” และ “ขยายตลาดใหม่
         
พร้อมกับกำหนดภารกิจ “ทูตพาณิชย์” ให้ทำงานเชิงรุก และบูรณาการทำงานกับพาณิชย์จังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และต้องรู้ขอมูล “ช่องทางการตลาด” และ “ความต้องการ” ของผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลการผลิตและการตลาดเชื่อมโยงกัน ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และผู้ประกอบการไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น
         
ส่วน “พาณิชย์จังหวัด” จะเป็นด่านหน้าของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องรู้ข้อมูล “สินค้าศักยภาพ” ในพื้นที่ สามารถคาดการณ์ภาวะตลาดและสินค้าในพื้นที่ โดยติดตามและเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
         
ไม่เพียงแค่นั้น ให้ทำการค้นหา “อินฟลูเอนเซอร์” ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมาก ให้เข้ามาช่วยโปรโมตเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย
         


ทำการส่งเสริม “ซอฟต์ เพาเวอร์” เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ มวยไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม
         
ขณะเดียวกัน “กระทรวงพาณิชย์” จะผลักดันการเจรจา FTA ให้มีมากขึ้น จากเดิมมีอยู่ 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการค้ากับคู่ภาคี FTA ให้มากขึ้นจาก 61% เพิ่มเป็น 80% ในปี 2570 และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA รวมทั้งช่วยในการปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกติกาใหม่ของโลก 
         
นายภูมิธรรมสรุปว่า หากการขับเคลื่อนพาณิชย์ยุคใหม่ทำได้สำเร็จ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ทั้งการเพิ่มรายได้และสร้างงานให้กับประชาชน ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเชื่อมโยงไทยกับเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด
         
แต่การจะผลักดันให้สำเร็จได้ มีเงื่อนไขง่าย ๆ คือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
         
จากที่ “นายภูมิธรรม” ว่ามาทั้งหมด ผู้เขียนมองว่า หากทำได้สำเร็จ  
         
กระทรวงพาณิชย์” ไม่เพียงแต่ “พลิกโฉม” เป็น “พาณิชย์ยุคใหม่” แต่จะเป็นทั้ง “เครื่องจักร” เป็น “ที่พึ่ง” เป็น “ผู้สนับสนุน” ภาคเอกชนและประชาชน ในการขับเคลื่อนการค้า ทั้งในประเทศและเชื่อมโยงออกสู่ตลาดโลก
         
โดยมี “เป้าหมาย” ให้ทุกคน “เติบโต” ได้อย่างมั่นคงและสมดุล
         
แต่เป้าหมายนั้น จะ “เกิดขึ้น” เร็วแค่ไหน ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ก็แล้วกัน
         
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง