​“ไร่ละพัน” ครั้งนี้ครั้งสุดท้าย

img

ก่อนอื่น ต้องขอ “แสดงความยินดี” กับ “เกษตรกรผู้ปลูกข้าว” ทั่วทั้งประเทศ จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ที่จะได้ “รับเงินสนับสนุน” ค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว “ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท” อีกครั้ง หลังจากจ่ายมาแล้วหลายปี   
         
การจ่ายเงินแต่ละครั้ง ต้องใช้ “งบประมาณ” ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2566/67 นี้ ต้องใช้งบสูงถึง 56,321.07 ล้านบาท
         
หากจะว่าไป ก็ต้องยอมรับว่า ทำให้เกษตรกร “เสพติด” เพราะเงินก้อนนี้ เป็นเหมือน “เงินให้เปล่า” แค่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็ “ได้สิทธิ์นั้น” ทันที
         
แต่ในแง่ความเป็นจริง เงินที่มีเงื่อนไขในการจ่ายเพื่อช่วย “ค่าบริการจัดการ” และ “พัฒนาคุณภาพผลผลิต” ก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้ถูกใช้ตามวัตถุประสงค์ แต่เป็นการใช้เพื่อ “ซื้อใจ” เกษตรกรมากกว่า
         
สำหรับข้าวปีการผลิต 2566/67 ก็เช่นเดียวกัน จากการที่ “กระทรวงพาณิชย์” ได้หารือร่วมกับตัวแทนชาวนา มีมติออกมาว่า อยากได้ “ไร่ละพัน” เหมือนเดิม และได้นำ “มตินี้” เสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มี “นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” เป็นประธาน พิจารณา พร้อมกับ “มาตรการดูแลเสถียรภาพราคาข้าว” เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566
         
มติ นบข. ในวันนั้น ไม่ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอทั้งหมด โดย “มาตรการชะลอการขายข้าวเปลือก” ให้ใช้กลไก “สหกรณ์การเกษตร” ของกระทรวงเกษตรและสหกกรณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่งเข้ามาดำเนินการ และ “การรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร” ให้ใช้ “สหกรณ์” และ “สถาบันเกษตรกร” ช่วยรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ส่วน “มาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ” ให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา
         
ขณะที่ “มาตรการไร่ละพัน” ยังไม่ได้มีการ “พิจารณา” ในการประชุมครั้งนี้ แต่เปิดทางให้มีการนำเสนอ นบข. ในการประชุมครั้งต่อไป หากเห็นว่ามีความจำเป็น “ต้องใช้” เพื่อดูแลเกษตรกร
         


จากนั้น เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวได้ได้มีการพิจารณามาตรการดูแลข้าวร่วมกันแล้ว และได้นำเสนอให้ ครม. พิจารณาในวันที่ 7 พ.ย.2566 โดยมติ ครม. ออกมาเหมือนกับที่กระทรวงพาณิชย์เคยเสนอให้ นบข. พิจารณา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยอนุมัติ 2 โครงการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก คือ “โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี” เป้าหมาย 3 ล้านตัน ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางระยะเวลา 1-5 เดือน โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ถ้าฝากเก็บในยุ้งฉางตัวเอง แต่ถ้าฝากกับสถาบันเกษตรกร สถาบันเกษตรกรได้ 1,000 บาท เกษตรกรได้ 500 บาท และ “โครงการให้สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร” เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยสาถบันเกษตรกรจ่าย 1% รัฐรับภาระ 3.85%
         
ส่วน “มาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ” ยังไม่เสนอให้ ครม. พิจารณา เพราะยังหารือกันไม่จบ รวมถึง “ไร่ละพัน” ก็ไม่ได้เสนอเช่นเดียวกัน เพราะต้องรอ 3 กระทรวง “พาณิชย์-เกษตร-คลัง” พิจารณาร่วมกันก่อน เนื่องจากมีวงเงิน “งบประมาณ” สูง
         
ต่อมา วันที่ 10 พ.ย.2566 “นายเศรษฐา” ได้มอบหมายให้ “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” เป็นประธานประชุม นบข. แทน โดยที่ประชุมเห็นชอบโครงการ “ไร่ละพัน” และให้นำเสนอ ครม. พิจารณาวันที่ 14 พ.ย.2566 เมื่อ ครม. อนุมัติ ก็ดำเนินการ “จ่ายเงิน” ให้กับเกษตรกรได้ทันที
         
พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มเงื่อนไขมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยจะจ่าย “ค่าฝากเก็บ” ตันละ 1,500 บาท ให้กับเกษตรกรที่มี “ยุ้งฉาง” เป็นของตัวเองด้วย อย่างอื่นเหมือนเดิม และสินเชื่อรวบรวมข้าวปรับเงื่อนไขรัฐช่วยดอกเบี้ยเป็น 3.50-3.85% ส่วนสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% เหมือนเดิม
         
ทั้งนี้ ยังมี “มาตรการใหม่” ออกมา คือ สหกรณ์การเกษตร จะเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิสดจากเกษตรกรในราคาตันละ 12,000 บาท เป้าหมาย 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมนอกเหนือจากมาตรการที่ นบข. ได้มีมติออกมา เพื่อช่วยดูแลราคาข้าวให้กับเกษตรกร ส่วนข้าวที่สหกรณ์ซื้อไว้ ก็จะนำไปแปรรูปหรือดำเนินการตามความเหมาะสม 
         
ทางด้าน “มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการเก็บสต๊อกข้าว” ได้กำหนดชดเชยดอกเบี้ยให้กับ “โรงสี” เพียงอย่างเดียว ส่วน “ผู้ส่งออก” และ “ผู้ประกอบการข้าวถุง” ตัดออก โดยรัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี ที่เหลือโรงสีรับผิดชอบ และให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาช่วยปล่อยกู้ ซึ่งจะมีการนำเสนอกรอบวงเงินชดเชย อัตราดอกเบี้ยที่ชดเชย ให้ ครม. พิจารณาต่อไป
         


หาก ครม. วันที่ 14 พ.ย.2566 พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการ “ไร่ละพัน” และ “มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี” ก็เท่ากับว่า มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 2566/67 เป็นอันจบ จากนั้น จะเป็นขั้นตอน “การจ่ายเงิน” และขั้นตอน “การปฏิบัติ” ที่จะใช้ดูแล “ราคาข้าว” ที่กำลังออกสู่ตลาดต่อไป
         
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินโครงการไร่ละพัน ที่ประชุม นบข. ได้มอบหมายให้ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เป็นเจ้าภาพพิจารณา “หามาตรการ” ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยให้ “แนวทาง” การดำเนินการ เช่น การบริหารจัดการใหม่ ๆ การจัดหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วย “ลดต้นทุน” ให้กับเกษตรกร และเพื่อให้ “คุณภาพข้าว” ดีขึ้น

นายภูมิธรรม บอกว่า ถ้าดำเนินการตามแนวทางนี้ จะได้ไม่ต้องดูแลแบบนี้ทุกปี และหากเป็นไปตามเป้าหมาย จะไม่มีโครงการแบบนี้อีกต่อไป เพราะจะเกิดกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยเกษตรกรให้เพาะปลูกข้าวที่มีคุณภาพ ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น และต้นทุนต่ำลง

นั่นหมายความว่า ปีนี้จะเป็น “ปีสุดท้าย” ที่รัฐบาลจะ “จ่ายเงิน” ไร่ละพันให้กับเกษตรกร ส่วนปีต่อ ๆ ไป ภายใต้การบริหารงานของ “รัฐบาลชุดนี้” จะไม่มีโครงการไร่ละพันอีกแล้ว  

หากถาม “ผู้เขียน” เสียใจแทนเกษตรกรหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “เสียใจ” แต่หากมองในแง่การบริหารจัดการ “งบประมาณ” ถือว่ารัฐมา “ถูกทาง” เพราะงบประมาณมีจำกัด ต้องกันไปใช้อย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  

ส่วนการดูแลเกษตรกร หาก “แนวทาง” ที่ นบข.ให้ไว้ ทำได้สำเร็จ ก็จะช่วยสร้าง “ความเข้มแข็ง” ให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

แต่จะ “เป็นจริง” ได้ตามที่ตั้ง “ความหวัง” เอาไว้หรือไม่

ต้องมาติดตามกัน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง