​เตรียมต้อนรับ FTA ใหม่ 3 ฉบับ

img

ปัจจุบัน “ประเทศไทยมี FTA กับคู่ค้า” รวม 14 ฉบับ 18 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง
         
มี “สัดส่วนการค้า” ในปี 2565 คิดเป็น 60.9% ของการค้าไทยกับโลก
         
นั่นหมายความว่า ยังมี “การค้าอีกเกือบ 40%” ที่ไทยค้าขายกับประเทศที่ไม่ได้มี FTA ด้วย
         
การเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ จึงเป็น 1 ใน 7 นโยบายเร่งด่วน ที่ “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ไปขับเคลื่อน

ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับคู่ค้าใหม่หลายฉบับ แต่มี 3 ฉบับ ที่ใกล้บรรจุ “ผลสำเร็จ” ได้แก่ ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไทย-ศรีลังกา และไทย-เอฟตา   
         
โดยทั้ง 3 ตลาด ถือว่า “มีความสำคัญ” ต่อการค้าไทย เพราะมี “มูลค่าการค้า” ในปี 2565 รวมกันมากถึง 15,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5.38 แสนล้านบาท
         
หากทำ FTA สำเร็จ ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยผลักดันการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
         
สำหรับ “FTA ไทย-ยูเออี” ดูแล้วน่าจะเป็น “ฉบับแรก” ที่จะเจรจาจบก่อน โดยขณะนี้การเจรจาผ่านไปแล้ว 4 รอบ น่าจะ “ปิดดีล” ได้ภายในปี 2566 นี้
         
ตลาดยูเออี” ถือเป็นตลาดที่มี “กำลังซื้อ” สูงมาก จากทั้งชาวเอมิเรตส์ แรงงานต่างชาติ และนักท่องเที่ยว และยังมีทำเลที่ตั้งเป็น “ศูนย์กลางโลจิกติกส์” ที่จะช่วย “กระจายสินค้าของไทย” ให้มีแต้มต่อในการเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ “ผลการศึกษา” พบว่า การทำ FTA จะช่วยให้ “เศรษฐกิจไทย” ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 11,194 -12,567 ล้านบาท “การส่งออก” ของไทยไปยูเออีเติบโตขึ้น 21,609–30,126 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าไทย “จะได้ประโยชน์” เช่น อาหาร สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง และพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่ “สาขาบริการ” ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ เป็นต้น
         
ส่วน FTA ที่คาดว่า “จะสำเร็จ” ในลำดับต่อไป คือ “FTA ไทย-ศรีลังกา” ขณะนี้ผ่านการเจรจามาแล้ว 6 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในต้นปี 2567



ศรีลังกา” เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ “เส้นทางการเดินเรือ” ที่สำคัญของมหาสมุทรอินเดีย ที่เชื่อมเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป และมี “ทรัพยากรธรรมชาติ” ที่อุดมสมบูรณ์ จะช่วยขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันผู้ประกอบการไทยในตลาดเอเชียใต้ รวมทั้งใช้ศรีลังกา “เป็นฐานการผลิตสินค้า” กระจายไปสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

ผลการศึกษา พบว่า จะช่วยเพิ่ม “จีดีพี” ให้กับไทย อีก 4,130 ล้านบาท “การลงทุน” ของไทยในศรีลังกา เพิ่มขึ้นปีละ 1,912 ล้านบาท และ “สินค้า” ที่คาดว่าไทยจะขยายตลาดได้ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก และ “อุตสาหกรรม” ที่จะลงทุนในศรีลังกา เช่น อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ อัญมณี เครื่องประดับ เป็นต้น
         
สำหรับ FTA ฉบับสุดท้ายที่คาดว่าจะสำเร็จ คือ “FTA ไทย-เอฟตา” โดยได้เจรจากันไปแล้ว 6 รอบ และตั้งเป้าหมายสรุปผลช่วงกลางปี 2567 ซึ่งจะเป็น FTA ที่มี “มาตรฐานสูง” ช่วยยกระดับ “ความสามารถการแข่งขัน” ของไทย ช่วยดึงดูดการลงทุน และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะสาขาที่เอฟตามีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มสินค้า “เกษตรและอาหาร” เช่น ข้าว ข้าวโพดหวาน อาหารสำเร็จรูป และอาหารสุนัขและแมว ผลไม้เมืองร้อน แป้ง น้ำมันพืช ไก่แปรรูป น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ เส้นก๋วยเตี๋ยว ผักและผลไม้กระป๋อง และน้ำผลไม้ กลุ่ม “สินค้าอุตสาหกรรม” เช่น เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ “กลุ่มบริการ” เช่น การท่องเที่ยว การเงิน โทรคมนาคม การแพทย์ สุขภาพ พลังงานสะอาด ด้านวิชาชีพ
         
สรุปไว้ชัด ๆ ตรงนี้ สิ้นปีนี้ ถึงกลางปี 2567 จะมี FTA ถึง 3 ฉบับ ที่จะ “เจรจาสำเร็จ” และ “ตกลงกันได้
         
นั่นหมายความว่า ไทยจะมี “สัดส่วนการค้า” กับประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้นเป็น 66.7% จากเดิม 60.9% ได้เพิ่มจากยูเออี 3.5% เอฟตา 2% และปากีสถาน 0.3%
         
หากจะให้ “สัดส่วนการค้าไทย” กับคู่เจรจา FTA เพิ่มเป็น 80% ตาม “เป้าหมาย” ที่ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ตั้งไว้ในปี 2570 ไทยจะต้องทำ FTA กับคู่ค้าที่มีสัดส่วนการค้ากับไทยอีกราว ๆ 13.3%



มองแล้ว “ไม่น่ายาก” เพราะ FTA ที่อยู่ในแผน “ศึกษา” และแผน “เจรจา” รวมแล้วก็น่าจะมีสัดส่วนการค้าเกินกว่า 13.3% ถ้า “ทำสำเร็จ” ทั้งหมด สัดส่วนการค้าน่าจะทะลุ 80% ด้วยซ้ำ

โดย FTA ที่อยู่ในแผนเจรจา ได้แก่ “ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)” มีสัดส่วนการค้า 7% “อาเซียน-แคนาดา” สัดส่วนการค้า 0.6% “ไทย-ตุรกี” สัดส่วนการค้า 0.3% “ไทย-ปากีสถาน” สัดส่วนการค้า 0.3% “ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก” สัดส่วนการค้า 1.1% “ไทย-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC)” สัดส่วนการค้า 6.7% “ไทย-เมอร์โคซูร์” สัดส่วนการค้า 1.3% และ “ไทย-ภูฏาน” มีสัดส่วนการค้าน้อยมาก แต่เป็นประเทศที่มีโอกาสขยายตลาดได้สูง

FTA ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มี “ความคืบหน้า” แตกต่างกันไป บางฉบับ “เจรจากันมานานแล้ว” บางฉบับ “อยู่ระหว่างเจรจา” บางฉบับ “เพิ่งเปิดเจรจา” และบางฉบับ “กำลังศึกษาประโยชน์-ผลกระทบ

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น เชื่อว่า “การเจรจา FTA” ทั้งอัปเกรด FTA เดิม เจรจา FTA กับคู่ค้าใหม่ ศึกษาทำ FTA กับประเทศใหม่ ๆ “ไม่น่าจะมีปัญหา

เนื่องด้วย “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนเก่า ที่เพิ่งลุกจากตำแหน่งไปเป็น “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ได้วาง “รากฐาน” และ “เปิดทาง” ทำ FTA ไว้หมดแล้ว

และ “น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล” ที่มาเป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่ ก็น่าจะ “เอาอยู่” เพราะเป็น “ลูกหม้อ” ของที่นี่ ส่วน “ฝีไม้-ลายมือ” คงไม่ต้องพูดถึง
         
แต่มีสิ่งที่อยากจะ “ขอฝาก” ไว้ ก็คือ “การเปิดเผย-การให้ข้อมูล” ความคืบหน้าการเจรจา FTA

ในอดีต กรมนี้ถูกมองว่าเป็น “แดนสนธยา” ไปเจรจาอะไร มีความคืบหน้าอะไร มักจะ “ไม่บอก-ไม่กล่าว” สู่สาธารณะชน แต่หลังจาก “นางอรมน” เข้ามา ได้ “พลิกโฉม” กรมนี้จาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” ก็ไม่อยากที่จะให้ที่ทำมา “สูญหาย-สูญไป

หวังว่า “น.ส.โชติมา” อธิบดีคนใหม่ น่าจะมี “แนวทางเดียวกัน

เพราะ “แนวทางนี้” ได้รับเสียง “ชื่นชม” จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาแล้ว   
         
อยากให้ “สิ่งดี ๆ” ได้รับการ “สานต่อ
           
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง