​“พาณิชย์” ไม่หยุดสกัด “นอมินี”

img

การเติบโตของภาค “การท่องเที่ยว” มักจะมาควบคู่กับการเติบโตของ “การทำธุรกิจ” เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
         
ในการเติบโนนั้น หากเป็นการทำธุรกิจของ “คนไทย” เติบโต ถือเป็นเรื่องที่ “น่ายินดี” อย่างยิ่ง แต่หากเป็นการเติบโตของการทำธุรกิจของ “คนต่างชาติ” ก็เป็นเรื่องที่ “น่าเศร้าใจ
         
เพราะเท่ากับว่า “มีการแย่งธุรกิจของคนไทย” เกิดขึ้น “เม็ดเงิน-รายได้” ที่ควรจะเป็นของคนไทย ก็ตกไปเป็นของคนต่างชาติแทน
         
ปัจจุบัน เราได้พบเห็น “การทำธุรกิจของคนต่างชาติ” เป็นจำนวนมาก ประเภท “ดูปุ๊บ-รู้ปั๊บ” ว่านี่ไม่ใช่ธุรกิจของคนไทยแน่ ๆ แต่กลับ “เอาผิด” หรือ “ทำอะไรไม่ได้
         
นั่นเป็นเพราะ มีการ “หลบเลี่ยง-หลีกเลี่ยง” การทำผิดกฎหมาย
         
วิธีการ ก็คือ คนต่างชาติ จะหาคนไทยมาเป็น “นอมินี” หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ให้คนไทยเป็น “หุ่นเชิด-ตัวแทน” แล้วเปิดบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจ โดยให้คนไทยถือหุ้น 51% ต่างชาติถือหุ้น 49% เพื่อให้บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็น “บริษัทคนไทย” เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย หลบเลี่ยงการตรวจสอบ

แต่ในความเป็นจริง คนไทยที่มาถือหุ้น บางคนไม่รู้เลยว่า ตัวเองถูกเอาชื่อไปก่อตั้งบริษัท หรือบางคนรู้ทั้งรู้ แต่ก็ยอมทำ เพื่อแลกกับ “ค่าตอบแทน” เล็ก ๆ น้อย

พอตั้งบริษัทได้แล้ว คนต่างชาติ ก็ใช้ “แทคติก” ทางกฎหมาย ให้คนไทยไม่มีสิทธิ์ “ออกเสียง” ไม่มีสิทธิ์ในการ “บริหารจัดการ” ก็เท่ากับว่า “ยึดบริษัท” ได้แบบเบ็ดเสร็จ

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ “กระทรวงพาณิชย์” ได้ “ตามจัดการ” มาโดยตลอด แต่ละปีมีการ “ตรวจสอบ” บริษัทที่ “คาดว่า”  หรือ “พบว่า” เข้าข่ายเป็นนอมินีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อตรวจสอบแล้ว “เห็นแววเป็น” ก็ส่งไม้ต่อให้ “ดีเอสไอ” ไปจัดการ “สืบสวน-สอบสวน” ในเชิงลึกต่อ
         
สำหรับปีนี้กระทรวงพาณิชย์ โดย “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ได้ทำการตรวจสอบการทำธุรกิจโดยให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ตามปีงบประมาณ 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
         


ดำเนินการตรวจสอบไปทั้งสิ้น 439 ราย ใน 3 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต มีพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ
         
ในการตรวจสอบ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
         
ผลตรวจสอบเบื้องต้น พบ “ความผิดปกติ” กล่าวคือ มีคนไทย 2 ราย มีชื่อเป็น “ผู้ถือหุ้น” อยู่มากถึง 269 บริษัท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน “เชียงใหม่-ชลบุรี” แยกเป็น “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”  60 แห่ง “ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง” 6 แห่ง “ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ต” 4 แห่ง “ธุรกิจบริการ” 184 แห่ง และธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าส่ง ค้าปลีก ขนส่ง เกษตรกรรม 15 แห่ง
         
ทั้งหมดนี้ อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล “มูลค่าการลงทุน” และข้อมูล “การประกอบธุรกิจ” เพิ่มเติมแล้ว 
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังพบว่ามี “สำนักงานบัญชี” และ “สำนักงานกฎหมาย” หลายแห่ง ให้คำ “แนะนำ” หรือ “จ้างคนไทย” เข้ามาถือหุ้นแทนคนต่างชาติ โดยให้คนไทยถือหุ้นสัดส่วน 51% และต่างชาติ 49% เพื่อทำให้บริษัทนั้น มีสถานะเป็น “นิติบุคคลไทย” และ “ประกอบธุรกิจ” ได้โดยไม่ต้องอนุญาต

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” กล่าวว่า ขอฝากเตือนถึง “คนไทย” ที่ยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม และขอฝากถึง “สำนักงานบัญชี-สำนักงานกฎหมาย” ที่คอยให้คำแนะนำการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ขอให้ “หยุด” เพราะถ้า “ตรวจพบ-ตรวจเจอ” จะถูกเล่นงานตามกฎหมายอย่างหนัก

ขอเน้นย้ำให้คนไทยอย่าหลงเชื่อ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดทั้งนิติบุคคล ผู้ให้ความช่วยเหลือ และผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1-5 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน



นายจิตรกร บอกว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 กรมอยู่ระหว่างการจัด “ทำแผนงาน” ตรวจสอบประจำปี โดยจะเน้นธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ส่วนพื้นที่เป้าหมาย จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอีกครั้ง เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการลงพื้นที่ส่งเสริม ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายในอนาคต

นอกจากนี้ จะดำเนินการ “ตรวจสอบ” ตั้งแต่เริ่มต้น “การจดทะเบียนธุรกิจ” โดยตรวจสอบ “ผู้ถือหุ้น” ตรวจสอบ “สถานะการเงิน” ของผู้ถือหุ้น และเมื่อได้รับการ “จดทะเบียน” แล้ว ก็จะ “เจาะลึก” ลงไปอีก โดยคัดเลือกบริษัทที่คาดว่าจะเป็น “กลุ่มเสี่ยง” เช่น ธุรกิจที่คนต่างด้าวถือหุ้น 49% ธุรกิจมีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ ให้สิทธิ์คนต่างด้าวมากกว่าคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงลงคะแนน สิทธิ์การรับเงินปันผล สิทธิ์การรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น รวมถึงนำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในทำธุรกิจ เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติ มาประกอบพิจารณาด้วย

จากแผนงานที่ว่ามาทั้งหมด เป็นการ “ทำงาน” เป็นการ “จัดการ” ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ให้อำนาจไว้ แต่ก็ “ทำได้-จัดการได้” แค่ในระดับหนึ่ง
         
ก็อย่างที่ “รู้กัน” ปัญหา “นอมินี” ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน และนับวันก็ยิ่ง “เพิ่มมากขึ้น
         
จะให้ “กระทรวงพาณิชย์” ลุยอยู่กระทรวงเดียว ก็เป็น “เรื่องยาก” ที่จะจัดการได้ “เบ็ดเสร็จ
         
ปัญหา “นอมินี” เป็นเรื่อง “ร้ายแรง” และ “ทำลาย” เศรษฐกิจของประเทศ หวังว่า กระทรวงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาดไทย แรงงาน การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะต้องมา “ร่วมด้วยช่วยกัน” และใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ในมือเข้ามาจัดการด้วย
         
ถ้า “ทำได้” เช่นนี้ ปัญหานอมินี ไม่ว่าจะอยู่มุมไหน จุดไหน ก็คงจัดการได้
         
แต้ถ้ายัง “นิ่งเฉย” ทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” เหมือนเดิม
         
อนาคต “คนไทย” อาจเป็นได้แค่ “ลูกจ้าง” ของบริษัทต่างชาติ ที่ “แปลงตัว-แปลงร่าง” เป็นบริษัทคนไทย โดยหลบเลี่ยงและใช้ช่องว่างของกฎหมาย
         
ถึงเวลาร่วมมือกันลุยแล้วหรือยัง?   
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง