​เจาะสาเหตุส่งออกหด ขาดดุลพุ่ง

img

สัปดาห์ที่ผ่านมา “กระทรวงพาณิชย์” ได้แถลง “ตัวเลขส่งออก” ของเดือนม.ค.2566 ปรากฏว่า “การส่งออก” ทำได้มูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว “ติดลบ” ที่ 4.5%

โดยเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือนต.ค.2565 ที่ลบ 4.4% พ.ย.2565 ลบ 6% และธ.ค.2565 ลบ 14.6%

ที่สำคัญ “มูลค่าส่งออก” ยัง “ต่ำสุด” ในรอบ 23 เดือน นับจาก ก.พ.2564

ไม่เพียงแค่นั้น จากยอด “การนำเข้า” ที่สูงถึง 24,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% ทำให้เดือนม.ค.2566 ไทย “ขาดดุลการค้า” มูลค่า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นยอดขาดดุลที่ “สูงที่สุด” ในรอบ 10 ปี
         
หากอ่านแต่ “พาดหัวข่าว” ทั้งสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ โชเซียลมีเดีย ก็น่า “ตกใจ” เพราะเจอทั้งข่าวส่งออกติดลบ 4 เดือนติด ข่าวขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 10 ปี อะไรทำนองนี้
         
แต่พอดู “ไส้ใน” ของตัวเลขการส่งออก และไส้ในของการขาดดุลการค้า พบว่า “ไม่ได้แย่” และ “ไม่น่ากังวล” อย่างที่หลายฝ่ายตกใจ
         
ผู้เขียนได้รับข้อมูลชี้แจงจาก “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค.” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมสถิติการส่งออกของไทย
         
อ่านดูแล้ว ทำให้ “เข้าใจ” ถึง “เหตุ” และ “ผล” ของ “การส่งออก” ที่ลดลง และ “การขาดดุลการค้า” ที่สูงขึ้น จึงอยากจะมา “ฉายภาพ” ให้เห็นกัน   
         
สาเหตุที่ทำให้ “การส่งออก” หดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจาก “เศรษฐกิจโลก” ที่ชะลอตัว “ภาคการผลิต” และ “คำสั่งซื้อใหม่” ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจาก “ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)” ภาคการผลิตโลกเดือนม.ค.2566 อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ของต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในหลายอุตสาหกรรม



โดยการลดลงดังกล่าว สอดคล้องกับการส่งออกของไทยที่หดตัว ทั้งเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล เป็นต้น ที่ส่งออกได้ลดลง
         
นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันด้าน “ค่าครองชีพ” ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภค “สินค้าคงทน” และ “สินค้าฟุ่มเฟือย” ลง ส่งผลให้การส่งออกบางสินค้าหดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
         
แต่หาก “เปรียบเทียบ” กับประเทศผู้ส่งออกด้วยกัน พบว่า ไทยยังติดลบน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น “ฮ่องกง” หดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง โดยม.ค.2566 ลด 36.9% “เวียดนาม” หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.2566 ลด 25.9% “ไต้หวัน” หดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.2566 ลด 21.2% “เกาหลีใต้” หดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.2566 ลด 16.6% “ญี่ปุ่น” หดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.2566 ลด 8.9% “สิงคโปร์” หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.2566 ลด 7.9% และ “อินเดีย” หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.2566 ลด 6.6%
         
ส่วนการ “ขาดดุลการค้า” ที่สูงถึง 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสาเหตุสำคัญมาจาก “การนำเข้าพลังงาน” ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานโลกสูงขึ้น หลังจากที่จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกกลับมาเปิดประเทศ พร้อมทั้งยกเลิกนโยบาย Zero-Covid ช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันทั้งในภาคการขนส่งและการผลิต และยังช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
         
ขณะเดียวกัน ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศของไทย ก็ขยายตัวต่อเนื่อง รองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังเปิดประเทศ

ทีนี้ มา “เจาะลึก” การนำเข้าเดือน ม.ค.2566 ดู พบว่า “สินค้าเชื้อเพลิง” เพิ่มขึ้น 84.4% และมีสัดส่วนสูงถึง 21.1% ของการนำเข้าทั้งหมด สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 0.4% มีสัดส่วน 12.6% และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เพิ่มขึ้น 28.4% มีสัดส่วน 4.9% ส่วนที่เหลืออีก 60% เป็นการนำเข้า “สินค้าทุน” และ “วัตถุดิบ
 


หากเจาะลึกลงไปอีก พบว่า ในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง เป็นการนำเข้า “น้ำมันดิบ” มูลค่า 3,419 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 132.0% คิดเป็นสัดส่วน 13.7% ของกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง นำเข้า “น้ำมันสำเร็จรูป” มูลค่า 464 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.3% สัดส่วน 1.9% และนำเข้า “ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม” มูลค่า 905 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.9% สัดส่วน 3.6%

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันมาก ๆ ในเดือน ม.ค.2566 ต่างก็ขาดดุลการค้าสูง เช่นกัน โดยญี่ปุ่น ขาดดุล 26,804.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้ ขาดดุล 12,651.2 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดีย 17,742.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ยอด “การส่งออก” ที่หดตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน เป็นปัญหาจากเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มส่งผลกระทบชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องที่ “ภาครัฐ” และ “ภาคเอกชน” ประเมินกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า “ต้องเกิดขึ้น

ส่วน “ดุลการค้า” ก็อย่างที่ได้ข้อมูลมา เมื่อน้ำมันแพง เวลานำเข้าก็ต้องจ่ายแพงมากขึ้น ประเทศที่ “พึ่งพาน้ำมัน” แทบจะทุกประเทศต่างก็เจอปัญหานี้ ไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียว

คงพอ “เห็นภาพ” ว่า กำลัง “เกิดอะไรขึ้น

แล้วภาพ “การส่งออก” ที่ “ชะลอตัว” คงจะได้เห็นอีกในช่วงครึ่งปีแรก แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

เพราะรัฐและเอกชนคุยกันแล้ว ประเมินกันแล้ว ว่า “ทิศทางจะไปทางนี้

รู้ข้อมูลไว้ รู้แนวโน้มในอนาคตไว้ จะได้ไม่ “ตกใจ” เวลาเห็นข่าวในเดือนต่อ ๆ ไป  

แต่หากถาม “กระทรวงพาณิชย์” ทำอะไร มีแผนรับมืออะไร

เท่าที่ได้รับรู้ รับทราบ กระทรวงพาณิชย์ “มีแผน” และ “ทำแผน” รับมือไว้หมดแล้ว ตอนนี้ก็ “ทำอยู่ ทำต่อ ทำไม่หยุด

โดย “มีเป้า” ที่จะผลักดันให้ “การส่งออกปี 2566” ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 1-2% ให้ได้
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด