​เงินเฟ้อไทยไม่สูงลิ่ว

img

จบไปแล้วสำหรับ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
         
ผลการลงมติ” ก็คงทราบกันไปแล้ว ใครได้คะแนนเสียง “ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ” มากน้อยแค่ไหน
         
สำหรับ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ที่รับผิดชอบบริหารงาน “กระทรวงพาณิชย์” ได้คะแนนเสียงไว้วางใจ 241 เสียง ไม่ไว้วางใจ 207 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง

ส่วน “ผลคะแนน” ที่ออกมา จะเกิดจาก “สาเหตุอะไร” เป็น “เกมการเมือง” หรือไม่ เป็นเรื่องที่ “พรรคประชาธิปัตย์” จะต้องไป “ตรวจสอบ” กันต่อ
         
อันนี้ ผู้เขียน “ไม่รู้จริง ๆ” และยังหา “คำตอบ” ไม่ได้เหมือนกัน 
         
แต่ถ้าดู “ประเด็นเนื้อหา” ที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมา “กล่าวหา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ-การแก้ปัญหาปากท้อง-การดูแลเกษตรกร-การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
         
หากมองกันอย่างแฟร์ ๆ ทุกปัญหา “กระทรวงพาณิชย์” ทำได้ "ดี" ไม่ถือว่า "แย่" และยังสามารถทำ “เรื่องหนัก” ให้ “เป็นเบา” ลงได้    
         
เริ่มจาก “เงินเฟ้อ” หากเทียบไทยกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ที่เจอปัญหา “วิกฤตซ้อนวิกฤต” เหมือนกัน 
         
ไม่ว่าจะเป็น “เศรษฐกิจโลก” ชะลอตัว “โควิด-19” ระบาด และ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ทำให้ราคา “พลังงาน” แพงขึ้นทั่วโลก
         
ที่เห็นได้ชัด “ราคาน้ำมัน” เดือน ม.ค.-มิ.ย.2565 เทียบกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 60% ก๊าซธรรมชาติ เพิ่ม 195% ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง ทั้ง “ค่าครองชีพ” ขึ้น “ต้นทุนสินค้า”ขึ้น “ค่าขนส่ง” ขึ้น ไล่ยาวไปจนถึง “ปุ๋ยเคมี” ขึ้น
         
เกิด “ภาวะของแพง” ทั่วโลก “เงินเฟ้อ” ขยับขึ้นทั่วโลก
         


แต่สำหรับไทย “เงินเฟ้อ” ดีกว่าหลายประเทศ หากเทียบการจัดลำดับ 137 ประเทศ ไทยอยู่ที่ 125 น้อยกว่าไทยมีแค่ 12 ประเทศ นอกนั้น “แพง” กว่าไทยหมด  
         
ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยสูงขึ้น สาเหตุหลัก คือ “น้ำมัน” รองลงมา คือ “สินค้ากลุ่มอาหาร” ที่ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเพาะปลูก ต้นทุนการเลี้ยง ส่วน "สินค้าอุปโภคบริโภค" ส่วนใหญ่ราคา “ทรงตัว” และยัง “ไม่มี” การปรับขึ้นราคา
         
นายจุรินทร์ อธิบายเรื่องนี้ว่า “การดูแลราคาสินค้า” ได้ใช้นโยบาย “วิน-วิน โมเดล” ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ทั้ง “เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค” โดยมีหลักว่า หากต้นทุนไม่ขึ้น ไม่ให้ขึ้นราคา และตรึงให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าต้นทุนขึ้น ให้ปรับตามโครงสร้างต้นทุน และปรับให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น แต่ถ้าต้นทุนลด ก็ต้องลดราคาทันที
           
สินค้าที่เป็น “ตัวอย่าง” ชัดเจน ก็คือ “น้ำมันปาล์มขวด” เคยขึ้นไป 69-70 บาทต่อขวด วันนี้ลงมาเหลือ 57.50-58 บาทต่อขวดแล้ว
         
ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ธ.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน มีสินค้า “ขอขึ้นราคา” รวม 127 ครั้ง 11 หมวด 61 บริษัท 116 ยี่ห้อ สินค้า 936 รายการ ทั้ง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม ผงซักฟอก ผ้าอนามัย น้ำยาล้างจานและอื่น ๆ
         
ทั้งหมดนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยัง “ไม่ให้ขึ้น

หากให้ขึ้น “เงินเฟ้อ” ไทยคงไปไกลกว่านี้ “ค่าครองชีพ” คงพุ่งกระฉูดกว่านี้ “ปัญหาปากท้อง” คงรุนแรงกว่านี้
         
แต่ในระยะต่อไป จะ “ให้ขึ้น” หรือ “ไม่ให้ขึ้น” ยังต้องติดตาม แต่เท่าที่ทราบ “การปรับขึ้นราคา” จะยึดหลัก “วิน-วิน โมเดล” ตามที่กล่าวมาแล้ว
         


ส่วนการดูแล “เกษตรกร” ที่เป็นอีกหนึ่งข้อกล่าวหา นายจุรินทร์ บอกว่า สามารถผลักดันราคา “พืชผลการเกษตร” ดีเกือบทุกตัว ทั้ง “ข้าว-มัน-ยาง-ปาล์ม-ข้าวโพด” ซึ่งอยู่ในโครงการประกันรายได้ ขณะที่ “ผลไม้” ราคาดีเช่นกัน ทั้ง “ทุเรียน-มังคุด-สับปะรด-ลิ้นจี่-มะม่วง
         
สิ่งที่เกิดขึ้น ช่วยให้เกษตรกร มี “รายได้” เพิ่มขึ้น มี “ชีวิตความเป็นอยู่” ดีขึ้น
         
ทางด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการ “หารายได้” เข้าประเทศ นายจุรินทร์กางตัวเลขให้เห็น “การส่งออก” ปี 2564 ทำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท เพิ่ม 17.1% ปีนี้ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกแล้ว 4 ล้านล้านบาท เพิ่ม 12.9% ในนี้เป็น “การค้าชายแดน” ที่เร่งรัดเปิดด่านจาก 97 ด่าน เปิดแล้ว 59 ด่าน ทำเงินเข้าประเทศแล้ว 267,052 ล้านบาท เพิ่ม 17.24%
         
จะเห็นได้ว่า “ข้อกล่าวหา” ที่ฝ่ายค้านหยิบมากล่าวหา กระทรวงพาณิชย์ “ทำ” แล้ว และ “ดำเนินการ” แล้ว และสามารถ “แก้ไขปัญหา” จนสำเร็จลุล่วง และมี “มาตรการดูแล” ทุกปัญหา
         
คิดกันง่าย ๆ ถ้าวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้มีการ “บริหารจัดการ” อย่างที่ทำมา
         
โดยเฉพาะเรื่อง “เงินเฟ้อ” ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก

สถานการณ์คง “รุนแรง” กว่านี้ “เลวร้าย” กว่านี้

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะ “เชื่อ” คำพูดใคร และยกมือ “ไม่ไว้วางใจ” กระทรวงพาณิชย์ 
         
ขอให้ “คิดทบทวน” กันให้ดีก่อน
         
เพราะสิ่งที่ “กระทรวงพาณิชย์” ทำมาต่อเนื่อง แม้จะไม่ “ดูดี” ในสายตาของใครหลาย ๆ คน และ “ไม่ถูกใจ” ใครหลาย ๆ คน
         
แต่วันนี้ ปัญหา “ของแพง” จนกู่ไม่กลับ หรือ “ของขาด” จนคนต้องแย่งกันซื้อ
         
ยัง “ไม่เกิดขึ้น” ในไทย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด