ตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ต่อมิอะไรหลายอย่าง
การดำเนินชีวิตของเราๆ ท่านๆ ได้ปรับเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) การทำธุรกิจก็มีการปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ
พบว่า หลายหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เรียกว่า “หน้ามือเป็นหลังมือ”
วันนี้ “ซีเอ็นเอ” ขอพูดถึงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อ DITP
ย้อนกลับไปช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินหน้าภารกิจในการขยายตลาดส่งออก มีการจัดงานแสดงสินค้า จัดคณะผู้แทนการค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ และช่วยเหลือ SMEs ให้มีโอกาสส่งออก
รวมไปถึงการสร้างโอกาสทางการค้า การส่งออก ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ผ่านการฝึกอบรม สัมมนา หรือการบ่มเพาะเชิงลึก
ในด้านการขยายตลาดส่งออก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญในการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่า
มีผลความสำเร็จเกิดขึ้น สามารถขยายตลาดส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศ จากการเดินทางไปขายสินค้าที่จีน สหรัฐฯ อินเดีย ตุรกี เยอรมนี เกือบ 1 แสนล้านบาท
ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่กำลังขับเคลื่อน กำลังออกดอกออกผล แต่ต้องมาหยุดชะงักลงเมื่อโควิด-19 ระบาด
หลังโควิด-19 ระบาด นายจุรินทร์มองว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกแบบเดิมๆ คงทำไม่ได้ ต้องปรับ ต้องเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับยุค New Normal
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้รับลูก และปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมทันที
อย่างการจัดคณะผู้แทนการค้า เพื่อเดินทางไปเจรจาขายสินค้าที่ทำไม่ได้ ได้ปรับเป็นการเจรจาผ่านทางออนไลน์ จัดในหลายรูปแบบ ทั้งจัดในช่วงงานแสดงสินค้า หรือจัดแยกตามกลุ่มสินค้า ที่มีการนัดหมายระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้า กับผู้ส่งออกของไทย
การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ ก็หันไปใช้ช่องทางออนไลน์ ที่เรียกเสียงฮือฮา ก็คือ ขายลำไยได้กว่า 5,000 ล้านบาท
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ที่เคยทำในประเทศต่างๆ ก็ปรับเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีผลงานเด็ด คือ การร่วมมือกับ Tmall ในเครืออาลีบาบา จัดไลฟ์สดขายผลไม้ไทย แค่ 15 นาที มีคนเข้ามาชม 16 ล้านวิว และยังขายผลไม้ไทยได้เป็นจำนวนมาก
การช่วยเหลือ SMEs ที่เดิมให้การสนับสนุนผ่านโครงการ SMEs Pro-active ได้ปรับการสนับสนุนกิจกรรมขยายตลาดครอบคลุมถึงช่องทางออนไลน์
การจัดงานอบรม สัมมนา ได้ปรับใช้ช่องทางออนไลน์ในการอบรม ผ่านทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ
การจัดงานแสดงสินค้า ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นสำหรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ กล่าวคือ ได้ปรับเป็นระบบ “ไฮบริด” มีทั้งจัดงานแบบออฟไลน์ และออนไลน์
ที่ได้นำร่องไปแล้ว คือ งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX โดยการจัดแบบออฟไลน์ มีผู้ผลิต ผู้ส่งออกอาหารของไทย และตัวแทนขายสินค้าของต่างประเทศที่อยู่ในไทยมาออกบูธ เพื่อจำหน่ายสินค้า
และในส่วนของออนไลน์ ได้จัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง หรือ Virtual Trade Show ที่ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ จะสามารถเข้าชมงาน ชมสินค้า ได้เหมือนเดินทางมางานจริงๆ และสามารถเจรจาธุรกิจกับผู้จัดแสดงสินค้าได้
เรียกว่า อยากซื้อ อยากขาย คุยกันผ่านออนไลน์ได้เลย
นายจุรินทร์ บอกว่า การจัดงานแบบลูกผสม หรือไฮบริดนี้ จะทำให้ไทยกลายเป็นงานต้นแบบของการจัดงานแสดงสินค้ารูปแบบใหม่ของโลกต่อไป
ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ที่รับนโยบายและนำไปปฏิบัติจนปรากฏผลงานชัดเจน
ตั้งรับ ปรับตัว รับยุค New Normal ได้ทันการณ์จริงๆ
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง