​ดันตั้ง “กองทุนเอฟทีเอ” รับมือเปิดเสรีการค้า

img

พูดกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า จะต้องมีอะไรที่เป็นการ “ถาวร” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ที่ไทยไปทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ 
         
เพราะปัญหาที่ผ่านมา การเปิดเสรีทำให้หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ บางครั้งไม่มีการช่วยเหลือเยียวยา หรือช่วย ก็ช่วยได้แบบไม่สุด
         
จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเอฟทีเอ” แบบถาวร
         
แล้วอะไร คือ ถาวร
         
กองทุนเอฟทีเอแบบถาวร ก็คือ การมีกองทุนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีปัญหาเมื่อไร ก็วิ่งเข้าหากองทุนเพื่อขอรับการช่วยเหลือได้ ไม่ใช่ต้องรอพึ่งงบประมาณจากภาครัฐว่าจะมีให้หรือไม่มีให้
         
ปัจจุบัน ไทยมีกองทุนเพื่อการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีอยู่แล้ว เป็นกองทุนที่อยู่ในกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยกองทุนเอฟทีเอของกระทรวงพาณิชย์ จะเน้นช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้า และบริการ ส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะเน้นช่วยเหลือภาคเกษตรเป็นหลัก



แต่ทั้ง 2 กองทุน ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการปีละไม่มากนัก หรือเป็นเงินหลักสิบล้านบาทเท่านั้น บางปีไม่ได้รับการจัดสรรด้วยซ้ำ ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขาดการช่วยเหลือในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือผ่านทั้ง 2 กองทุน จะเน้นให้คำปรึกษา คำแนะนำ ไม่ได้ช่วยเหลือเป็นตัวเงิน การเขียนโครงการเพื่อขอรับช่วยเหลือก็ยุ่งยาก ซับซ้อน ส่งผลให้มีผู้เขียนโครงการผ่าน และได้รับความช่วยเหลือไม่มากนัก

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ก็ยังมีผลกระทบต่อไป และมีปัญหามาโดยตลอด ว่า ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐได้

ล่าสุด กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการเจรจาการค้าของไทย กำลังเดินหน้าผลักดันให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเอฟทีเอ” แบบถาวรขึ้นมา
         
มีคณะทำงาน 1 ชุด แต่งตั้งโดยคำสั่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน
         
คณะทำงานชุดนี้ ได้ประชุมกันไปแล้ว 1 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นส่วนของเกษตรกร และมีแผนที่จะหารือกับภาคส่วนอื่นๆ ต่อ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงหารือกับกรมบัญชีกลาง เพื่อหาแนวทางยกร่างกฎหมายรองรับการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอด้วย
         
ผลการหารือ เกษตรกร เห็นว่า ต้องการให้มีกองทุนเอฟทีเออย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่รอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี เพื่อให้การช่วยเหลือ เยียวยา และลดผลกระทบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ เกษตรกรต้องการความช่วยเหลือเป็นตัวเงิน เพื่อเอาไปพัฒนา หรือปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รองรับการแข่งขัน
         


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า คงต้องประชุมกันอีกหลายครั้ง กว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งแม้จะต้องใช้เวลา แต่จำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อให้การช่วยเหลือ เยียวยา เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
         
ทั้งนี้ เพื่อให้การผลักดันการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ในวันที่ 30 ก.ค.2563 นี้ จะมีการจัดสัมมนาแนวทางการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ ผ่านทางออนไลน์ ติดตามได้ผ่านทางเฟซบุ๊ก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
         
เป้าหมาย ก็คือ เชิญภาคส่วนต่างๆ มาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ
         
ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย เสียงส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน การเดินหน้าต่อ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
         
ความหวังที่จะมี “กองทุนเอฟทีเอ” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าแบบถาวร คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริง
 
ซีเอ็นเอ

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด