​ท่าทีประเทศต้องชัดเจน รับการเจรจา FTA สมัยใหม่

img

ทุกวันนี้ ประเทศไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีสัดส่วนการค้าคิดเป็น 62.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย
         
นั่นหมายความว่า ยังมีสัดส่วนการค้าอีก 37.2% ที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย
         
ถ้าหากไทยจะขยายและเพิ่มมูลค่าการค้า FTA ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญที่จะเป็นหัวหอกในการเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย
         
ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาทำ FTA กับอีกหลายประเทศ ดังนี้ ไทย-ปากีสถาน มีสัดส่วนการค้า 0.3% ไทย-ตุรกี มีสัดส่วนการค้า 0.3% และไทย-ศรีลังกา มีสัดส่วนการค้า 0.1%
         
และกำลังจะลงนาม RCEP ซึ่งตามกำหนดน่าจะภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งใน RCEP ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ไทยมี FTA อยู่แล้ว 
         
คำถามที่เกิดขึ้น ในสัดส่วนการค้าที่เหลือ 37.2% ไทยจะเพิ่มมูลค่าการค้าได้อย่างไร หรือจะทำ FTA กับใครก่อน
         


มี FTA ที่ต้องมองตอนนี้ คือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP , ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หรืออาเซียน-อียู ที่มีไทยรวมอยู่ในอาเซียน , ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) , ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-บังกลาเทศ
         
สำหรับ CPTPP ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะจะมีประเทศที่ไทยมีโอกาสขยายการค้าได้อีก 2 ประเทศ คือ แคนาดา และเม็กซิโก
         
ขณะที่อียู หากทำ FTA ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรอบไทย-อียู หรืออาเซียน-อียู ก็จะได้สัดส่วนการค้าเพิ่มเข้ามาอีก 9.2% ประเมินจากยังไม่หักอังกฤษออกจากอียู ถึงแม้จะหักออก ก็ยังน่าสนใจ
         
รวมถึงกรอบ EAEU , EFTA ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
         
แต่ประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น จากการเจรจา FTA สมัยใหม่ ก็คือ จะไม่ใช่แค่การเจรจาเปิดตลาดแล้ว แต่จะมีกฎระเบียบ มีมาตรฐานในเรื่องต่างๆ ที่เข้มข้นมากขึ้นตามมาด้วย 
         
ยกตัวอย่างเช่น ยาและสิทธิบัตรยา , การเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญา UOVP 1991 , การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ , การให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการบนหลักการเชิงพาณิชย์ และการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เช่น เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง เป็นต้น
         
ประเด็นเหล่านี้ ถูกบรรจุอยู่ใน FTA ใหม่แทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น CPTPP , FTA ที่อียูทำกับเวียดนามและสิงคโปร์ หากไทยจะทำ FTA ด้วย ก็หลีกเลี่ยงประเด็นเหล่านี้ไม่พ้น หรือกระทั่ง EFTA และ EAEU ก็มีประเด็นเหล่านี้อยู่ด้วย 
         
ดังนั้น ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในแต่ละเรื่อง เรียกว่า ต้องทำนโยบายระดับประเทศ วางกรอบให้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องจะเอายังไง มีท่าทีแบบไหน ไม่เช่นนั้น การเจรจาในอนาคตจะยาก คนไปเจรจาก็ลำบาก เจรจาแล้ว ก็จะถูกคัดค้านไม่รู้จบ
         


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสเหมาะ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP กำลังพิจารณาว่าไทยควรจะเข้าร่วมความตกลงฉบับนี้หรือไม่ น่าจะใช้โอกาสนี้ เสนอท่าทีในแต่ประเด็นที่จะอยู่ภายใต้ FTA สมัยใหม่ เพื่อให้เป็นกรอบสำหรับการเจรจาที่จะมีขึ้นในอนาคต หากไทยจะไปเจรจา FTA กับใคร
         
กรอบที่ว่า ต้องระบุทิศทางของไทยเป็นอย่างไร มีท่าทีในแต่ละเรื่องยังไง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรองรับในแต่ละประเด็นเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องชัดเจน
         
FTA สมัยใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยในทุกๆ ด้าน หากไทยจะก้าวเข้าไปต่อสู้ในเวทีการค้าที่ทันสมัย มีมาตรฐานสูง ก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัว 
         
ในทางกลับกัน ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งขณะนี้ ทราบว่าก็มีการเตรียมการอยู่ โดยเฉพาะการผลักดันตั้งกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ
         
ตอนนี้ อยู่ที่รัฐบาลแล้ว จะมีนโยบายในเรื่อง FTA สมัยใหม่ยังไง

ถ้าไม่ชัดเจน ไทยอาจตกขบวนได้
         
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด