ดีใจกับชาวนา “ประกันรายได้” ได้ไปต่อ

img

“โครงการประกันรายได้” เป็นโครงการที่รัฐบาลดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 บางตัวก็ครบปี จบโครงการไปแล้ว อย่าง “ข้าว” ที่จบโครงการไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา
         
ส่วนสินค้าเกษตรอีก 4 ตัว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังไม่จบโครงการ
         
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต่างรอคอยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะได้รับการดำเนินโครงการในปีที่ 2 หรือไม่ เพราะขณะนี้ ก็เริ่มต้นการปลูกข้าวกันแล้ว
         
ในที่สุด เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2563 นบข. หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563-31 พ.ค.2564 โดยใช้แนวทางการดำเนินการเหมือนปีที่ผ่านมา
         
นับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ว่า โครงการนี้ ได้ไปต่อแน่ๆ
         
ไม่เพียงแค่โครงการได้ไปต่อ แต่ นบข. ยังได้ปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขให้ดีขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
         


หลักเกณฑ์ที่ว่า ก็คือ ให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไปพิจารณาราคาประกันรายได้ว่าควรจะกำหนดราคาที่เท่าไร บางชนิดอาจจะสูงขึ้น หรือบางชนิดอาจจะลดลง ส่วนปริมาณข้าวที่นำมาคูณต่อครัวเรือน ก็อาจมีการพิจารณาให้เหมาะสมด้วย

แล้วให้นำกลับมาเสนอ นบข. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ นบข. ได้เห็นชอบมาตรการคู่ขนาน โดยมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 มี 3 โครงการ ได้แก่

1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวม 1.98 หมื่นล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 1.55 หมื่นล้านบาท

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ในอัตราชดเชยดอกเบี้ย 3% วงเงินรวม 610 ล้านบาท

ทั้ง 3 โครงการ มีเป้าหมายที่จะดูดซับข้าวเปลือกในช่วงที่ออกมาสู่ตลาดมาให้ได้ 7 ล้านตันข้าวเปลือก

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบให้จัดทำโครงการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อัตราสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท และโครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกและโครงการยกระดับคุณภาพและต่อยอดด้านการตลาดข้าวหอมมะลิของไทย

ทันที โครงการประกันรายได้ ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการต่อจาก นบข. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เริ่มลงพื้นที่ แจ้งความคืบหน้าให้กับเกษตรกรได้รับทราบในทันที



นายจุรินทร์ บอกกับชาวนาว่า โครงการประกันรายได้ข้าว เป็น 1 ในพืชเกษตร 5 ชนิดที่รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายประกันรายได้ และเป็นเงื่อนไขตอนพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลว่าต้องทำโครงการ ซึ่งพรรคแกนนำก็ตอบรับ และแถลงต่อรัฐสภา เป็นข้อผูกมัดกลายเป็นนโยบายรัฐบาลชุดนี้
         
เมื่อโครงการเดิมสิ้นสุด นบข. ก็อนุมัติในหลักการให้เดินหน้าต่อ ทำให้พี่น้องเกษตรกรเบาใจได้ ว่า ถ้าราคาข้าวตก ก็มีหลักประกันไว้คอยช่วย
         
แต่โครงการปีที่ 2 พิเศษขึ้นมาอีกนิด ก็คือ มีการช่วยค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งเดิมเป็นการช่วยค่าต้นทุน 500 บาทต่อตัน ไม่เกิน 20 ไร่ ช่วยค่าเก็บเกี่ยว 500 บาทต่อตัน ไม่เกิน 20 ไร่ แต่ปรับใหม่ เป็นค่าบริหารจัดการและปรับปรุงคุณภาพ ให้รวดเดียวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 20,000 บาท เป็นเงินที่พี่น้องเกษตรกรจะได้รับในฤดูการผลิตปี 2563/64
         
“ถือเป็นข้อดีของนโยบายประกันรายได้ เพราะต้องการประกันรายได้ให้พี่น้องที่ปลูกข้าวแล้ว จะไม่มีรายได้ต่ำกว่านี้ ถ้าราคาตก แต่ถ้าราคาดี ก็รับตังค์ไปเลยเท่าไร ก็เท่านั้น”นายจุรินทร์ย้ำกับชาวนา
         
ส่วนพืชเกษตรตัวอื่นอีก 4 ชนิด ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ ยังไม่สิ้นสุด หากสิ้นสุดโครงการแล้ว มั่นใจว่า จะได้รับการพิจารณาต่ออายุโครงการต่อไป
         
ขอให้เกษตรกร เบาใจได้ จะได้รับการดูแลเหมือนเดิม รวมไปถึงพืชเกษตรตัวอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในโครงการประกันรายได้

“พาณิชย์” เขาว่ามาแบบนี้

ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด