“ผ้าปักด้วยมือ” เป็นผ้าที่ผลิตได้ในหลายชุมชน หลายท้องถิ่น ทั่วประเทศไทย แต่ที่ได้รับความนิยม และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไทยและต่างชาติ มีจำนวนนับแหล่งที่มาได้ และหากพูดถึงผ้าปักด้วยมือของแหล่งผลิตใน จ.เชียงราย ชื่อหนึ่งที่คนรู้จัก คงหนีไม่พ้น “นิธี ผ้าปักมือบ้านสันกอง” ซึ่งเป็นผ้าที่ผลิตโดยคนในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่เดิมอยู่บ้านเฉย ๆ แต่ก็มีงานทำจากการปักผ้า เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ และช่วยลดภาระให้ลูกหลาน
วันนี้ ผ้าปักมือบ้านสันกอง ในชื่อนิธี สามารถเปิดตัวจำหน่ายออกสู่ตลาด และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มลูกค้าชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย และที่สำคัญ ยังเป็นสินค้าที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus ของกระทรวงพาณิชย์ ในกลุ่มของสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น
นางนิธี สุธรรมรักษ์ ประธานกลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ เนื่องจากได้มีโอกาสลองนำผ้าปักฝีมือผู้สูงอายุในชุมชน ไปวางขายที่ตลาดไนท์บราซ่า จ.เชียงราย ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ จึงจุดประกายให้ยึดเป็นอาชีพหลัก และตั้งกลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านสันกองขึ้น โดยได้รวมกลุ่มผู้สูงอายุในตำบล และระแวกใกล้เคียงที่อยู่บ้านเฉย ๆ มาปักผ้า ใครที่ทำไม่เป็น ก็จะสอนทุกขั้นตอน โดยใช้เวลาเรียนรู้อยู่ที่ 10 วัน ถึง 3 เดือน ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน และเมื่อผู้สูงอายุที่ปักผ้าได้แล้ว ก็จะจ่ายงานให้ และจ่ายค่าตอบแทนตามขนาดของชิ้นงาน ทำให้ผู้สูงวัยในชุมชนเกิดความภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองเฉลี่ยเดือนละ 1,000-2,500 บาท แบ่งเบาภาระให้กับลูกหลานได้
ผู้สูงอายุในตำบล จะใช้เวลาว่างในการมาพบปะและนั่งปักผ้าด้วยกัน ผลงานจะเกิดจากจินตนาการของแต่ละคน งานแต่ละชิ้น จึงออกมาไม่เหมือนกันเลย โดยจะนำผ้าปักของคุณย่า คุณยาย ไปดีไซน์แปรรูปเป็นสินค้า อาทิ กระเป๋าใส่โทรศัพท์มือ กระเป๋าสำหรับถือ พวงกุญแจ และหมอน
สำหรับจุดเด่นของสินค้า เป็นงานปักผ้าด้วยมือที่มีความละเอียด ฝีมือประณีต จากกลุ่มผู้สูงอายุที่บ้านสันกอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่มีอายุระหว่าง 55-88 ปี เน้นความสวยงามและเป็นธรรมชาติตามแบบที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ เช่น ลายเมล็ดขาวสาร , ใบไม้ , ดอกไม้ , สายน้ำ และลายก้นหอย ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์งานปักผ้าพื้นถิ่นด้วยลวดลายธรรมชาติไม่ให้สูญหายไป โดยมีกำลังการผลิตทำได้กว่า 300-400 ชิ้นต่อเดือน ส่วนชิ้นใหญ่จะใช้เวลาทำ 2-3 เดือน ส่วนชิ้นเล็ก 2-3 วัน
ในอนาคตจะพัฒนาเรื่องรูปแบบ และปรับเรื่องโทนสีให้เบาลง และจะผลิตสินค้าโดยยึดหลัก BCG เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม และจะเน้นหนักทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องเกิดขึ้นในชุมชนหมด วัตถุดิบจะไม่ทิ้งเลย ทุกสิ่งทุกอย่างใช้เป็นประโยชน์ได้หมด แม้แต่เศษด้าย เศษผ้า เอามาปะเอามาต่อและสอยทับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการทำตลาด เพราะเชื่อว่าสินค้าชุมชน ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ยังสามารถขายได้ และลูกค้าให้การยอมรับมากขึ้น และยังเป็นไปตามเทรนด์ความต้องการของตลาด
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง