
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำรวจตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ พบมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง หลังชาวสหรัฐฯ นิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น และได้รับผลดีจากสื่อสังคมออนไลน์ โดย Petfluencer ที่เข้ามาช่วยโปรโมตสินค้า ชี้เป้าสินค้าที่มีโอกาส ปลอกคอ สายจูง ที่นอน ของเล่น กรง และอุปกรณ์ให้อาหาร แต่ต้องเน้นสินค้าที่มีนวัตกรรม ใช้งานได้จริง และใช้ช่องทางออนไลน์ทำตลาด
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.เกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ สหรัฐอเมริกา ถึงแนวโน้มการเติบโตของการเลี้ยงสัตว์ และตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสและช่องทางในการส่งออกสินค้าของไทยไปขาย
โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ปัจจุบันครัวเรือนในสหรัฐฯ เกือบ 94 ล้านครัวเรือน มีสัตว์เลี้ยงอย่างน้อย 1 ตัว โดยสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีประมาณ 65 ล้านครัวเรือนเป็นเจ้าของ รองลงมา คือ แมว ส่วนสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น เช่น ปลา สัตว์ขนาดเล็ก สัตว์เลื้อยคลาน และนก โดยกลุ่มมิลเลนเนียลเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากที่สุด และนิยมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ได้ง่ายหรือมีเทคโนโลยีช่วยให้ใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ คือ สื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Instagram และ TikTok มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง โดย Petfluencer หรือผู้มีอิทธิพลทางโซเชียลที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงช่วยโปรโมตสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยแบรนด์ต่าง ๆ มักร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ เช่น แบรนด์ค้าปลีกสัตว์เลี้ยงชั้นนำ PetSmart ร่วมมือกับ Petfluencer เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ผ่านคอนเทนต์ที่ดูจริงใจและเป็นธรรมชาติ เข้าถึงชุมชนเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย ช่องทางร้านค้าปลีกแบบหน้าร้าน ยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก คิดเป็นสัดส่วน 81.44% เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการได้สัมผัสสินค้าโดยตรง โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องพิจารณาขนาด ความทนทาน หรือคุณภาพ เช่น ของเล่น กรง สายจูง และการพาสัตว์เลี้ยงมาทดลองสินค้าในร้านก็ช่วยเพิ่มประสบการณ์และความมั่นใจในการซื้อให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย และผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังให้ความไว้วางใจในร้านค้าปลีกที่ไปเป็นประจำ ชื่นชมในความจริงใจของผลิตภัณฑ์และคำแนะนำส่วนบุคคลที่ได้รับจากพนักงานขายในร้าน และการช้อปปิ้งด้วยตนเองยังช่วยลดโอกาสในการส่งคืนสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคสามารถประเมินผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเองก่อนซื้อ ส่วนช่องทางออนไลน์ คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 6.4% ต่อปี (ระหว่างปี 2025–2030) โดยโมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิก ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เช่น การบริการจัดส่งอาหารและอุปกรณ์ถึงบ้านเป็นประจำ ช่วยลดภาระการเดินทางและสร้างความผูกพันระยะยาวระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์
น.ส.สุนันทากล่าวว่า จากการเติบโตของผู้บริโภคที่นิยมเลี้ยงสัตว์ และความต้องการสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงดังกล่าว เป็นโอกาสในการผลิตและส่งออกสินค้าไทยไปขาย เช่น ปลอกคอ สายจูง ที่นอน ของเล่น กรง และอุปกรณ์ให้อาหาร โดยสินค้าต้องมุ่งเน้นนวัตกรรมและการออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง เพราะผู้บริโภคในสหรัฐฯ มองหาสินค้าที่ทั้งสวยงามและใช้งานได้จริง เช่น ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการสัตว์เลี้ยง ปลอกคอที่มีระบบ GPS หรือคอนโดแมวที่สามารถวางในพื้นที่จำกัดได้อย่างลงตัว ทั้งยังควรตอบโจทย์ความสะดวกในการจัดเก็บหรือเคลื่อนย้าย
ขณะเดียวกัน ต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลและเจน Z ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสินค้า การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เส้นใยกัญชง หรือเส้นใยจากพืช ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ รวมทั้งต้องปรับสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานและความต้องการของตลาด เช่น ปราศจากสารตกค้าง พลาสติกปลอดสาร BPA และผ่านมาตรฐานต่าง ๆ อาทิ EPA (สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม) ASTM (มาตรฐานการทดสอบวัสดุ) และ CPSIA (กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าเด็กและสัตว์เลี้ยง) อีกทั้งควรแปลฉลากสินค้าและข้อมูลโฆษณาให้ถูกต้อง ชัดเจน และน่าเชื่อถือ ส่วนการทำตลาด ควรใช้ช่องทางออนไลน์และ Petfluencer เพราะการซื้อสินค้าอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงผ่านออนไลน์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่รับอิทธิพลจากสื่อสังคมออนไลน์การใช้กลยุทธ์ร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในวงการสัตว์เลี้ยง บน Instagram หรือ TikTok จะช่วยขยายฐานผู้รู้จักสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง