
เปิด 7 มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ที่สหรัฐฯ อยากให้ไทยยกเลิก มีตั้งแต่ภาษีนำเข้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคด้านเทคนิค อุปสรรคด้านการค้าอีคอมเมิร์ซและการค้าดิจิทัล อุปสรรคด้านการลงทุน และเรื่องแรงงาน “ฉันทวิชญ์” เผยสหรัฐฯ จี้ไทยยกเลิกจริง และทีมเจรจายื่นข้อเสนอเพิ่มเติมไปแล้ว ย้ำไม่ว่าจะตกลงอะไร ต้องผ่าน ครม. และรัฐสภาเห็นชอบก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าสหรัฐฯ มีประเด็นหนึ่งที่สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยลดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) และไทยได้มีการยื่นข้อเสนอให้กับสหรัฐฯ ไปแล้วในการเจรจาครั้งล่าสุด ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับสิ่งที่สหรัฐฯ ระบุไว้ในรายงานการประเมินการค้าสหรัฐฯ ภายใต้การกีดกันการค้าของประเทศคู่ค้าปี 2568 (2025 National Trade Estimate Report on FOREIGN TRADE BARRIERS : 2025 NTE Report ) ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค.2568
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ustr.gov ระบุว่า ภายใต้รายงานดังกล่าว USTR แบ่งประเด็น NTB ของไทยเป็น 7 ประเด็น ได้แก่ 1.นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ไทยเก็บภาษี MFN (ภาษีที่เก็บจากชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง) เฉลี่ยปี 66 ที่ 9.8% แต่ภาษี MFN สินค้าเกษตร 27% และสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร 7.1% ส่วนอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีนั้น ไทยห้ามนำเข้า จำกัดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ อีกทั้งหลายสินค้าต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้า เช่น ไม้ ปิโตรเลียม เครื่องจักรอุตสาหกรรม สิ่งทอ ยา เครื่องสำอาง อาหาร รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น พืช เมล็ดพันธุ์ เนื้อสัตว์แปรรูป เกลือ ขณะที่บางสินค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมนำเข้า เช่น เนื้อสัตว์ปรุงสุกและไม่ปรุงสุกทุกประเภท และหลายสินค้ามีมาตรการโควตาภาษี เช่น กาแฟ ชา มันฝรั่ง ข้าวโพด ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง
2.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า อุปสรรคจากมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งมีการใช้มาตรการในหลายสินค้า ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดไทย เช่น ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื้อวัวและผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว เนื้อหมู สัตวีปีก ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปใหม่
3.การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แม้ไทยได้รับการคงสถานะอยู่ในกลุ่มประเทศถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (WL) แต่สหรัฐฯ ยังคงกังวลในหลายเรื่อง เช่น ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ มีองค์กรบริหารจัดการลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ใช้ซอฟต์แวร์ไม่ได้รับอนุญาต
4.อุปสรรคด้านเทคนิค โดยในสาขาบริการการเงิน มีข้อจำกัดในการออกใบอนุญาตสำหรับสาขาและบริษัทย่อยของธนาคารจากต่างประเทศ สาขาบริการประกันภัย ธุรกิจต่างชาติถูกจำกัดการถือครองหุ้นไม่เกิน 49%
5.อุปสรรคด้านการค้าอีคอมเมิร์ซ การค้าดิจิทัล สหรัฐฯ กังวลพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขใหม่ ให้อำนาจภาครัฐควบคุมเนื้อหาออนไลน์กว้างขวางจนเกินไป และอาจกระทบต่อเนื้อหาที่ชอบด้วยกฎหมาย และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
6.อุปสรรคด้านการลงทุน พ.ร.บ.การประกอบการธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไม่เกิน 50% ในหลายธุรกิจบริการ เช่น โทรคมนาคม ขนส่ง การดำเนินกิจกรรมด้านทรัสต์ ธุรกิจธนาคาร การแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น และบางวิชาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย
7.แรงงาน ไทยไม่ได้ดำเนินมาตรการเพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิแรงงานในระดับสากล โดยเฉพาะเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ส่งผลให้สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ไทยบางส่วนตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 จนถึงปัจจุบัน
นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ ได้มีการเรียกร้องให้ไทยลดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าจริง ซึ่งตนไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะเป็นเรื่องของทีมไทยแลนด์ที่จะเจรจา แต่ไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมที่จะลดมาตรการกีดกันให้กับสหรัฐฯ ไปแล้ว และไม่ว่าไทยจะตกลงอะไรกับสหรัฐฯ จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาก่อน เพราะเป็นการลงนามความตกลงร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งมีผลผูกพันกับประเทศในระยะยาว และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องจำนวนมาก
ส่วนกรณีที่มีโอกาสจะกลับมาทบทวนรายละเอียดของสิ่งที่ได้ตกลงไปแล้วหรือไม่ มองว่า อาจต้องรอให้พ้นสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ไปก่อน หรือหากสหรัฐฯ มีรัฐบาลใหม่ และเห็นว่า ความตกลงนี้เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ ก็อาจไม่ทบทวน เหมือนที่นายโจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากทรัมป์สมัยแรก ก็ยังดำเนินตามนโยบายของทรัมป์ในหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่ไม่ว่าจะมีภาษีทรัมป์หรือไม่ ไทยจำเป็นต้องปรับตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ยืนอยู่บนโลกยุคใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างแข็งแกร่ง
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง