​สนค.ระดมสมอง ยกระดับ 2 คลัสเตอร์ “อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่-ยานยนต์แห่งอนาคต”

img

สนค.จัดการประชุมระดมสมอง ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางการปรับโครงสร้างภาคการส่งออก เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลก โฟกัส 2 คลัสเตอร์ศักยภาพ “อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่-ยานยนต์แห่งอนาคต” ก่อนนำจัดทำแผนสำหรับใช้ขับเคลื่อนต่อไป
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมระดมสมอง (Focus Group) เรื่อง “บทบาทภาครัฐต่อการปรับโครงสร้างการส่งออก” ณ โรงแรม Queensland กรุงเทพฯ และช่องทางออนไลน์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชนเข้าร่วม ว่า การส่งออกเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในขณะนี้ กำลังเผชิญทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตภายใน และความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงจากนโยบายการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น สนค. จึงดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาคการส่งออก เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน
         
โครงการศึกษานี้ ได้มีการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกของภาพรวมโครงสร้างการส่งออก ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสามารถการส่งออก และศักยภาพของสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยในตลาดโลก รวมทั้งมีการวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพและประเมินผลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการยกระดับการส่งออกผ่านการผลักดัน 2 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการยกระดับภาคการส่งออก คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต พร้อมทั้งพิจารณาถึงความสามารถในการสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ เพื่อระบุถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพใหม่ ๆ มีโอกาสทางการตลาด และมีมูลค่าเพิ่มสูง ที่จะผลักดันการส่งออกต่อไป
         
สำหรับ 2 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมศักยภาพ เป็นคลัสเตอร์สำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและระดับโลก ทั้งในด้านการส่งออก การผลิต การจ้างงาน และการลงทุน โดยในคลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่มีการส่งออกคิดเป็น 23.4% ของการส่งออกรวมใน ปี 2567 และมีบทบาทด้านการผลิต คิดเป็น 16% ของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมในปี 2566 เป็นหัวใจของการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ในการเปลี่ยนสินค้าให้กลายมาเป็น Smart Products ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และอาจสร้างสินค้าส่งออกใหม่ เช่น PCB PCBA อุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ต่าง ๆ ส่วนคลัสเตอร์ยานยนต์แห่งอนาคตมีการส่งออก 10% ของการส่งออกรวมในปี 2567 และมีบทบาทด้านการผลิตคิดเป็น 11% ของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมในปี 2566 โดยยังคงเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้ว่ากำลังเผชิญแรงกดดันทางด้านการแข่งขันอย่างรุนแรง แต่เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็ว และเป็นกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างการส่งออกของคลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย



ทั้งนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ช่วง 5 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 27,299.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 19.8% ของมูลค่าการส่งออกรวม และการส่งออกยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่า 12,490.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 9.0% ของมูลค่าการส่งออกรวม
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการศึกษานี้ อยู่ระหว่างการสรุปผลการศึกษา และรวบรวมประเด็นความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากการประชุมระดมสมองมาพัฒนาร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ก่อนที่จะจัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาให้ภาคเอกชนและผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม และภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจวางกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของในโลกอนาคต

“การดำเนินโครงการศึกษาดังกล่าว นอกจากจะมีการศึกษาและวิเคราะห์จากข้อมูลสถิติเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาของความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยโดยรวมแล้ว ยังมีการรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ตลอดจนการประเมินความพร้อมและศักยภาพของผู้ประกอบการในการที่จะยกระดับภาคการส่งออก ผ่านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและการประชุมระดมสมองกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพทั้ง 2 คลัสเตอร์ เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่รอบด้าน และนำมาสู่การพัฒนาร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปรับโครงสร้างและยกระดับภาคการส่งออกของไทยต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง