​“พาณิชย์”ชี้เป้าส่งออกขนม อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส เจาะตลาดเวียดนาม

img

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลสำรวจตลาดสินค้าอาหารในเวียดนาม พบขนม เครื่องดื่ม อาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิก อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องปรุงอาหาร มีโอกาสในการขยายตลาด แม้เวียดนามจะเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญในตลาดโลก สั่งทูตพาณิชย์ปรับแผนทำตลาด สร้างภาพลักษณ์อาหารไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภค
         
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย เวียดนาม ถึงการสำรวจตลาดสินค้าอาหารในเวียดนาม โอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหาร และช่องทางในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการไทย
         
โดยทูตพาณิชย์ ได้รายงานว่า ตลาดสินค้าอาหารเวียดนาม เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต เนื่องจากเวียดนามมีประชากรจํานวนกว่า 100.3 ล้านคน ประชากรอายุ 15-54 ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 62% และผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทําให้เวียดนามมีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 720 ล้านล้านด่ง (970,533 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 10.92% และเวียดนามยังต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิก อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแปรรูปตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น
         
ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรและประมงปริมาณมาก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าสัตว์น้ำ ผลไม้ มะม่วงหิมพานต์ ข้าว กาแฟ ชา และพริกไทย เป็นต้น และปัจจุบัน มีผู้ประกอบการด้านอาหาร 5,100 ราย เพิ่มขึ้น 85% เมื่อเทียบกับปี 2562 มีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน แต่ก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยตลาดนำเข้าหลัก คือ อินโดนีเซีย จีน สหรัฐฯ มาเลเซีย และไทย โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 และตลาดส่งออกหลัก คือ จีน สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6
         


น.ส.สุนันทากล่าวว่า แม้เวียดนามจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหาร แต่ก็มีการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้น นำเข้าจากไทย ทำให้สินค้าอาหารของไทย ยังมีคงมีโอกาสและมีศักยภาพในการขยายตลาดเวียดนาม เนื่องจากผู้บริโภคเวียดนามนิยมสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าขนม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิก อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องปรุงอาหาร เป็นต้น เนื่องจากคุณภาพดีและราคาเหมาะกับรายได้ของคนเวียดนาม
         
อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าอาหารเวียดนามมีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีผู้ผลิตรายใหญ่หลายราย รวมทั้งสินค้านําเข้าจากประเทศต่าง ๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการเวียดนามมีแนวโน้มนําเข้าสินค้าอาหารจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสําหรับผู้ประกอบการไทยที่จะต้องแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในเวียดนามและสินค้านําเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

โดยกรมได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ในเวียดนาม ทำการปรับแผนการทำตลาด ทั้งการสร้างภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการอาหารไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภค เช่น การโปรโมตร้านอาหาร Thai SELECT การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น งาน Mini Thailand Week รวมทั้งกิจกรรม In-store Promotion การส่งเสริมตรา T Mark กับซุปเปอร์มาร์เก็ตและผู้นําเข้า การส่งเสริมสินค้าไทยผ่าน Influencer, Youtuber หรือ Key Opinion Leader (KOL) การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการจัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้า BCG ที่เกี่ยวเนื่อง ไปเจรจาการค้า (B2B) ณ ประเทศเวียดนาม
         
นอกจากนี้ จะต้องจับตา หลังจากเวียดนามและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวกับการส่งออกพริก เสาวรส รังนก และรําข้าวไปยังจีน ในระหว่างการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนาย สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ช่วงวันที่ 14-15 เม.ย.2568 ที่จะเป็นคู่แข่งของสินค้าไทย โดยปัจจุบัน เวียดนามมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ส่งออกไปยังจีนอย่างเป็นทางการ 14 รายการ ได้แก่ แตงโม มังคุด ทุเรียน กล้วย แก้วมังกร เงาะ มะม่วง ลิ้นจี่ ลําไย ขนุน เสาวรส มันเทศ พริก และเฉาก๊วย

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง