
“พาณิชย์”เกาะติดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ครบ 3 ปี คาดกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ หลัง “ทรัมป์” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เห็นความหวังยุติความขัดแย้ง และหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกและของไทย หลังที่ผ่านมา ทำเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย เสียหายยับ คาดหลังยุติ การค้า การลงทุนไทย-รัสเซียเพิ่มต่อเนื่องแน่ มีโอกาสเร่งรัด FTA ไทย-EAEU
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.2565 ซึ่งเป็นวันที่รัสเซียส่งกองกำลังเข้าไปปฏิบัติการทหารในยูเครนและเดินหน้าโจมตีจนสามารถยึดครองดินแดนของยูเครนมาได้มากกว่าหนึ่งในห้า ขณะที่ยูเครนได้รับการสนับสนุนทางทหารจากชาติตะวันตกและพันธมิตร NATO อย่างต่อเนื่อง และร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต่อรัสเซียเพื่อกดดันให้รัสเซียยุติการสู้รบ จนนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมาจนถึงขณะนี้ ได้ดำเนินการมาครบ 3 ปีแล้ว และกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ภายหลังการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เร่งเดินหน้าเปิดทางเจรจาสันติภาพของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ท่ามกลางความหวังว่าความขัดแย้งที่มีแนวโน้มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศษฐกิจการค้าโลกในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ผลจากสงครามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมหาศาล โดยเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนาน เนื่องมาจากการสู้รบในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ และความผันผวนของราคาพลังงานโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกช่วงปี 2565-2567 เติบโตอย่างอ่อนแอ ที่ 3.6% 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากระดับ 6.6% ในปี 2564 และยังต่ำกว่าการเติบโตในทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 (ปี 2543-2562) ที่เติบโตเฉลี่ย 3.8% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงในปี 2566 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกที่กลับมาหดตัวในรอบ 3 ปี จากผลของการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของประเทศต่าง ๆ ที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม หลังจากครบ 3 ปี ได้เกิดความคาดหวังการยุติสงครามภายในปีนี้ โดยความหวังแรก การเจรจายุติสงคราม จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามในยูเครนเกิดขึ้นภายหลังการกลับมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือน ม.ค.2568 ที่ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อยุติสงครามในยูเครนโดยเร็วที่สุด ซึ่งนำไปสู่การหารือแบบพบหน้ากันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัสเซียที่กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 18 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวทางยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องที่จะฟื้นฟูภารกิจการทูตระหว่างกัน และจะทำงานร่วมกันเพื่อการเจรจายุติสงครามในยูเครน รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อการเจรจาสันติภาพที่จะนำไปสู่การยุติสงครามในยูเครน ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือ ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
และเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการยุติสงครามในยูเครน แม้ว่ายูเครนและประเทศพันธมิตรในยุโรปไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ แต่ก็เชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะเป็นการปูทางสู่การเจรจาสันติภาพโดยตรงระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียกับยูเครนต่อไป
ความหวังที่สอง หนุนฟื้นเศรษฐกิจโลก สัญญาณการใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อยุติการสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานถึง 3 ปี ไม่เพียงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรงเท่านั้น แต่จะยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย โดย IMF ประเมินเมื่อปลายปี 2567 ว่า หากสงครามสิ้นสุดภายในปลายปี 2568 เศรษฐกิจของยูเครนอาจกลับมาเติบโตถึง 4% ซึ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ในเดือน ต.ค.2567 ที่ 2.5% หลังจากที่เผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนักจนทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 28.8% ในปี 2565 ขณะที่ทางด้านของรัสเซียเมื่อยอมยุติสงคราม เชื่อว่าชาติตะวันตกจะทยอยผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งจะทำให้รัสเซียกลับเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการกลับมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตอาหารและพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมา รัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แม้จะหดตัว 1.3% ในปี 2565 แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้ถึง 3.6% ในปี 2566-2567
ความหวังที่สาม ผลักดันเศรษฐกิจการค้าไทย ที่ตลอดช่วงเวลาแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจของรัสเซียจากการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก กระทรวงพาณิชย์มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความร่วมมือและรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับรัสเซีย โดยแยกประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจออกจากความสัมพันธ์ทางการค้า แม้ว่าการส่งออกไปรัสเซียในปี 2565 จะลดลงจากปี 2564 ถึงกว่า 43.4% แต่ก็กลับมาขยายตัว 40.5% ในปี 2566 และขยายตัวต่อเนื่อง 7.9% ในปี 2567 ด้วยมูลค่า 885.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับระดับการส่งออกในช่วงก่อนเกิดสงครามในยูเครน ขณะที่การส่งออกไปยูเครนที่แม้จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดสงคราม แต่ก็เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยการส่งออกไปยูเครนขยายตัวถึง 110.5% ในปี 2567 และคาดว่า สถานการณ์สงครามและความตึงเครียดทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงหลังจากนี้ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสในการผลักการค้าการลงทุนของไทยกับรัสเซียได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งจะเอื้อประโยชน์ต่อการเร่งรัดเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย (EAEU) ที่จะช่วยเปิดประตูการค้าการลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ที่ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งล้วนเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย
“ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือสงครามในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ใช้อาวุธสู้รบหรือสงครามที่ไม่มีการใช้อาวุธอย่างสงครามการค้า กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด พร้อมทั้งประสานงานกับภาคเอกชนและร่วมมือกันวางแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการค้าไทยในภาพรวม และในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเดินหน้าผลักดันการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมั่นใจว่าจะทำให้การส่งออกไทยในปีนี้บรรลุได้ตามเป้าหมายหรือสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้”นายพูนพงษ์กล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง