​“พาณิชย์”จับมือรัฐ ​​เจ้าของสิทธิ์ แพลตฟอร์ม เดินหน้าระงับขายสินค้าละเมิดออนไลน์

img

กรมทรัพย์สินทางปัญญาถกหน่วยงานภาครัฐ เจ้าของสิทธิ์ เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ เดินหน้าระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่อ หลังล่าสุดมีผู้เข้าร่วมบันทึกข้อตกลงรวม 39 ราย พร้อมโชว์ผลดำเนินการ เจ้าของสิทธิ์แจ้งระงับ 1,670 รายการ แพลตฟอร์มระงับขาย 100% มีทั้งเพลง เสื้อผ้า อะไหล่ยนต์ เครื่องสำอาง ส่วนการจับกุมปี 67 จับได้ 295 คดี ของกลาง 2.19 แสนชิ้น เสียหาย 73 ล้าน  

น.ส.นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้จัดประชุมบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อพิจารณาแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมรวม 39 ราย ซึ่งจะช่วยให้การระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทำได้ดีขึ้น
         
ทั้งนี้ ผลจากความร่วมมือ เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้แจ้งขอให้ระงับการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จำนวน 1,670 รายการ และเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ระงับการขายสินค้าละเมิดจำนวน 1,670 รายการ คิดเป็น 100% โดยรายการสินค้าที่มีการแจ้งข้อมูลละเมิด เช่น ลิขสิทธิ์เพลง เสื้อผ้า อะไหล่ยนต์หรือเครื่องยนต์ เครื่องสำอาง เป็นต้น
         


ส่วนการจับกุมปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ ในปี 2567 มีการจับกุม จำนวน 295 คดี ยึดของกลางได้ 219,512 ชิ้น มูลค่า ความเสียหาย 73,365,855 บาท
         
ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ แพลตฟอร์ม ลาซาด้า ชอปปี้ และติ๊กต๊อก ชอป จากนั้นได้ดำเนินการระงับช่องทางการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยปกป้องคุ้มครองเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและผู้บริโภคจากการใช้สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีคุณภาพ มีกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพจนเห็นผลเป็นรูปธรรม

โดยผลการดำเนินการ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ดีขึ้น และล่าสุดสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก (Notorious Markets) ประจำปี 2567 ประเทศไทยไม่ได้ถูกระบุชื่อตลาดออนไลน์ที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงโดยตรง

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง