ไทยเกาะติด จีนฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อ WTO หลัง “ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษี 10%

img

เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO เผยจีนฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อ WTO แล้ว หลัง “ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% ให้เหตุผลขัดหลัก MFN และสหรัฐฯ เก็บภาษีเกินกว่าที่ผูกพันเอาไว้ ทำจีนเสียประโยชน์ ส่วนขั้นตอนต่อไป สหรัฐฯ ต้องตอบรับและร่วมหารือ หากไม่สน จะเริ่มกระบวนการแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาคดีต่อไป   
         
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ติดตามกรณีที่จีนประกาศว่าจะฟ้องร้องสหรัฐฯ ภายใต้ WTO หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2568 อย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดจีนได้ยื่นเรื่องขอหารือกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2568 แล้ว ถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการระงับข้อพิพาทของจีนอย่างเป็นทางการใน WTO
         
ทั้งนี้ จากเอกสารของจีนที่ยื่นขอหารือกับสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงมาตรการขึ้นภาษีศุลกากร (tariff) สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากจีน 10% โดยใช้อำนาจของ section 1702(a)(1)(b) ของ International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) โดยสหรัฐฯ แจ้งว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นความเร่งด่วนระดับชาติ (national emergency) คือ การไหลเข้ามาของสารสังเคราะห์โอปิออยด์ (synthetic opioids)

โดยการขึ้นภาษีศุลกากรดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับแล้วในวันที่ 4 ก.พ.2568 ซึ่งในความเห็นของจีน เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ WTO ใน 2 ประเด็นคือ 1.ขัดต่อหลักการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง หรือ Most-favoured nation treatment (MFN) ซึ่งกำหนดให้สมาชิก WTO ใช้มาตรการเหมือนกันในสินค้าประเภทเดียวกันกับทุกประเทศสมาชิก WTO ด้วยกัน ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และ 2.ขัดต่อพันธกรณีของสหรัฐฯ เรื่องอัตราภาษีศุลกากร โดยเป็นการเก็บภาษีเกินกว่าระดับที่ผูกพันไว้ (bound rate)

นอกจากนี้ จีนระบุว่า การทำผิดกฎเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้จีนเสียหรือถูกลดทอนผลประโยชน์ทางการค้าที่ควรได้รับ (nullify or impair benefits) และจีนสงวนสิทธิ์ที่จะยกเรื่องเพิ่มเติมต่อไป
         


นางพิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป ตามที่กำหนดในความตกลงว่าด้วยกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO สหรัฐฯ จะต้องตอบกลับจีนภายใน 10 วัน และร่วมหารือกันภายใน 30 วัน โดยหากไม่ตอบหรือเข้าร่วมการหารือ  ประเทศที่ขอหารือ สามารถเริ่มกระบวนการแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาคดีได้ หรือหากมีการหารือร่วมกัน แต่เกิน 60 วันไปแล้วโดยไม่มีข้อยุติระหว่างกัน ประเทศที่ขอหารือ ก็สามารถเริ่มกระบวนการแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาคดีได้เช่นกัน
         
การที่จีนได้ยื่นเอกสารขอหารือกับสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มกระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO อย่างเป็นทางการ โดยกระบวนการขอหารือ (request for consultation) ถือเป็นขั้นตอนแรก หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ในการหารือนี้ ก็อาจพิจารณาร้องขอให้องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO พิจารณาแต่งตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) เพื่อพิจารณาคดีในรายละเอียดตามหลักกฎหมายของ WTO ต่อไป ซึ่งสหรัฐฯ จะสามารถคัดค้านการจัดตั้งคณะ Panel ได้เพียง 1 รอบ แต่จะไม่สามารถขัดขวางได้ในการพิจารณาจัดตั้งรอบที่ 2 เพราะจำเป็นต้องได้รับฉันทามติจากองค์กรระงับข้อพิพาทด้วย (negative consensus)

อย่างไรก็ตาม นอกจากกรณีนี้ ปัจจุบันจีนกับสหรัฐฯ มีคดีที่ฟ้องร้องกันอยู่หลายคดีใน WTO ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์ 1 จนถึงรัฐบาลไบเดน (มีทั้งที่อยู่ในขั้นหาขอหารือจนถึงขั้นอุทธรณ์) โดยคดีเกี่ยวกับการขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม คณะผู้พิจารณาได้ตัดสินว่า สหรัฐฯ ทำผิดจริง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งยังทำไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ คัดค้านการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้ามาพิจารณาในขั้นตอนอุทธรณ์ (Appellate Body) ตั้งแต่ปี 2561
         
“ไทยจะติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศอื่นในกรอบ WTO และส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือกับระดับนโยบายทั้งในรัฐสภา หน่วยงานต่าง ๆ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เพื่อสร้างความเข้าใจและเสริมสร้างกระชับความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ต่อไป”นางพิมพ์ชนกกล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง