สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) นำเสนอผลการศึกษาการใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (CBEC) ขายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน ชี้เป้ามีสินค้า SMEs ที่มีโอกาสเพียบ ทั้งผลไม้สด เกษตร อาหาร อัญมณี Soft Power เผยผลศึกษาหนุนจัดตั้ง Fulfillment Center ตามแนวชายแดน หนุนไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์สำหรับการค้าออนไลน์จีน-อาเซียน เตรียมนำเสนอภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อน
นายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า ITD ได้ร่วมกับศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ เผยแพร่ผลการศึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce (CBEC) สู่ตลาดประเทศจีน ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดผ่านช่องรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน หรือ CBEC เข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสใหม่ทางการค้าขายระหว่างประเทศ โดย ITD จะนำเสนอผลการศึกษา และข้อเสนอแนะทั้งหมดให้กับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนต่อไป
ทั้งนี้ ผลการศึกษา พบว่า จีนเปิดรับสินค้าจากต่างประเทศผ่านรูปแบบ CBEC มีมูลค่าในปี 2566 สูงถึง 548,300 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตในอัตราตัวเลขสองหลักในปี 2567 โดยสินค้าที่นำเข้า มีทั้งสินค้าแบรนด์เนม ของใช้ส่วนตัว ของทานเล่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม แฟชั่น และหัตถกรรม โดยอนุญาตให้สินค้าที่อยู่ในบัญชีอนุญาต (Positive List) กว่า 1,500 พิกัดศุลกากร (HS code) สามารถนำเข้าผ่านเขตปลอดอากรนำร่อง CBEC ที่มีอยู่ทุกมณฑลของประเทศจีน โดยยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับนำเข้า และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราพิเศษ คือ ร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติ ที่เก็บอยู่ 13% รวมถึงสินค้าที่นำเข้าไม่ต้องขอเอกสารประกอบใบอนุญาตนำเข้าครั้งแรก ซึ่งช่วยลดขั้นตอนด้านเอกสารลงเป็นอย่างมาก
“การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน หรือ CBEC จึงเป็นหนึ่งในรูปแบบในการขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ที่หลายประเทศเลือกใช้ ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าว เป็นกลไกนำร่องดำเนินธุรกิจ เพื่อขยายตลาดจำหน่ายสินค้าของตนไปสู่ตลาดประเทศจีน แทนที่รูปแบบการค้าแบบทั่วไป และจะทำให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน สามารถขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน เช่น Tmall และ JD เป็นต้น”นายวิมลกล่าว
สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีโอกาส เช่น กลุ่มผลไม้สด สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารอนาคต สินค้ามูลค่าสูงอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าต่อยอดเชิงวัฒนธรรม และ Soft Power เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนอยู่แล้ว
นายวิมลกล่าวว่า ในการศึกษาครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ ได้เสนอการใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งทางถนนและระบบรางสำหรับ CBEC เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง CBEC จีน-อาเซียน โดยเสนอให้จัดตั้ง CBEC Fulfillment Center ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพิจารณาพื้นที่ชายแดนที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคายหรืออุดรธานี จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร ที่มีเชื่อมต่อกับจีนผ่านเส้นทาง R3A รถไฟลาว-จีน R12 และ R9 ตามลำดับ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่หนึ่งแห่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ สามารถลอกเลียนแนวทางที่จีนใช้ในการจัดตั้งเขตปลอดอากรนำร่อง CBEC มาใช้เป็นแนวทางสำหรับจัดตั้ง CBEC Fulfillment Center ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ ITD ได้เชิญบริษัทชั้นนำของจีนในประเทศไทย มาบรรยายแนะนำแนวทางการใช้ประโยชน์จาก CBEC ในมิติการเข้าสู่ตลาดจีน การขนส่งและการเงิน ได้แก่ 1.การเข้าสู่ตลาดจีน (Information Flow) โดยผู้แทนจากบริษัทโต่วอินประเทศไทย (TIKTOK จีน) แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าไทยสู่จีน 2.การให้บริการโลจิสติกส์ด่วน (Logistic Flow) โดยผู้แทนจากบริษัท SF Express 3.การชำระเงินระหว่างประเทศ (Financial Flow) โดยผู้แทนจาก ICBC ประเทศไทย และจัดกิจกรรม Mini Business Matching แนะนำผู้ซื้อจากเขตปลอดอากร CBEC และศูนย์แสดงและจัดจำหน่ายสินค้าของจีน ที่สนใจนำเข้าสินค้าไทยเพื่อจำหน่ายผ่านช่องทาง CBEC มาร่วมเสวนาทั้งจากเขตปลอดอากรนำร่องคุนหมิง หนานหนิง อี้อูและไห่หนานด้วย
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง