“นภินทร” ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ร่วม 20 หน่วยงาน เคาะแผนหยุดสินค้าไร้คุณภาพไหลเข้าประเทศ โฟกัส 3 กลุ่มสินค้า เกษตร อุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม สั่งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ตรวจคุณภาพนำเข้าละเอียดยิบ ทำยอดนำเข้าลด ยอดจับกุมเพิ่ม พร้อมปรับกฎระเบียบธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศต้องจดนิติบุคคลในไทย จด VAT ด้วย ล่าสุด TEMU เข้ามาจดบริษัทแล้ว เตรียมช่วย SME ลุยตลาดออนไลน์ ดึงหน่วยงานทำ MOU ดูแลผู้บริโภคจากสินค้าไร้คุณภาพ
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมครั้งที่ 2 ร่วมกับ 20 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ว่า ได้กำหนดเป้าหมายในการหยุดสินค้าไร้คุณภาพไหลเข้าประเทศ โดยพุ่งเป้าใน 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการตรวจสินค้า ณ ด่านศุลกากร ด้วยการเพิ่มความถี่ในการเปิดตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน การเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบเว็บไซต์และสินค้าที่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เป็นไปตามกฎหมายไทย การเพิ่มจำนวนตัวอย่างการเก็บสินค้าสำหรับตรวจสอบสารพิษตกค้างให้มากขึ้น พร้อมทั้งจัดกลุ่มสินค้าเกษตรตามความเสี่ยงของการพบสารพิษตกค้างมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ให้ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง
โดยผลจากการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การนำเข้าสินค้าลดลง โดยก่อนมีมาตรการ ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.2567 มูลค่านำเข้าเฉลี่ย 3,200 ล้านบาทต่อเดือน แต่หลังจากมีมาตรการ ก.ค.-พ.ย.2567 มูลค่าการนำเข้าลดลงเหลือเฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือลดลง 20% ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 ล้าน ตั้งแต่ 5 ก.ค.-21 พ.ย.2567 มีมูลค่า 707 ล้านบาท จับกุมสินค้านำเข้าที่ไม่มีมาตรฐาน มูลค่า 506 ล้านบาท เช่น สินค้าปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า เสื้อ รองเท้า วิตามิน สินค้าเบ็ดเตล็ด รวมถึงสินค้าต้องห้ามบุหรี่ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ยังจะปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมีสำนักงานในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้ ซึ่งในส่วนของ TEMU แพลตฟอร์มออนไลน์จากจีน ได้เข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลในไทยแล้ว เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งผลักดันให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องจด VAT โดยการปรับปรุงประมวลรัษฎากรกำหนดให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรด้วย
ส่วนการช่วยเหลือ SME ไทย จะให้ความรู้และการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบธุรกิจ การจัดมหกรรมส่งเสริมธุรกิจ การส่งเสริมด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการไทย และจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์เพื่อยกระดับธุรกิจไทยให้มีความพร้อมและเข้าใจตลาดมากขึ้น และจะสร้างและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้า ขยายความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติ การส่งเสริมนวัตกรรมสู่ตลาดต่างประเทศผ่านการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานระดับประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงผลักดันสินค้าไทยให้สามารถจำหน่ายบนแพลตฟอร์มต่างชาติ
สำหรับการดูแลผู้บริโภค เพื่อสกัดกั้นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศ จะจัดทำ MOU ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยหน่วยงานดำเนินมาตรการแจ้งเตือนไปยังแพลตฟอร์ม เกี่ยวกับปัญหาการจำหน่ายหรือโฆษณาสินค้าไม่ได้คุณภาพ ผิดกฎหมาย การติดฉลากสินค้าและคู่มือการใช้งานภาษาไทย การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มออนไลน์นำสินค้าดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม โดยมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสาน ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้ MOU ดังกล่าวให้เห็นผลที่ชัดเจน
“มาตรการข้างต้น จะช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเหลือ SME ให้แข่งขันได้ และดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ต้องเสี่ยงกับการใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ โดยในขณะเดียวกัน จะผลักดันให้สินค้าไทยมีมาตรฐานสากล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากคนไทยและชาวต่างชาติ นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วน SME ต่อ GDP เป็น 40% ในปี 2570” นายนภินทรกล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง