“นภินทร” ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันนอมินี เคาะแผนตรวจสอบ 5 ธุรกิจเสี่ยง ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง คลังสินค้า และซื้อขายสินค้าเกษตร เหตุได้รับร้องเรียนคนต่างด้าวแอบเข้ามาทำ เผยจะลงพื้นที่เป้าหมายลุยตรวจสอบทันที พร้อมตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับผิดชอบ ก่อนจ่ายหน่วยงานดำเนินการต่อ เตรียมชงแผนให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา 9 ธ.ค.นี้
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ครั้งที่ 2/2567 ว่า ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าการจัดทำแผนทำงานระยะสั้น กลาง และยาว หลังจากที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 10 หน่วยงาน ไปร่วมกันทำงานในการตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน โดยได้ข้อสรุปที่จะพุ่งเป้าการตรวจสอบใน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง คลังสินค้า และซื้อขายสินค้าเกษตร เพราะได้รับการร้องเรียนว่ามีคนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก
สำหรับแนวทางการตรวจสอบ หลังจากกำหนดธุรกิจเป้าหมาย จะมีการดำเนินการลงพื้นที่ไปตรวจสอบทันที โดยการท่องเที่ยว กำหนดพื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ อสังหาริมทรัพย์ เน้นพื้นที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยว และเมืองใหญ่ ๆ การขนส่ง เน้นแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตร คลังสินค้า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าออนไลน์ ธุรกิจซื้อขายสินค้าเกษตร พื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่เป็นแหล่งปลูกผลไม้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างด้าว และการใช้คนไทยเป็นนอมินี โดยมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานรับเรื่อง ตรวจสอบ และจ่ายงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามอำนาจและกฎหมายที่หน่วยงานมีอยู่ต่อไป
“จะนำแผนทั้งหมดนี้ เสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในวันที่ 9 ธ.ค.2567 เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีแผนจะทำอะไรบ้าง และมีเป้าหมายอย่างไร โดยได้ตั้งเป้าทำให้นิติบุคคลอำพราง หรือคนต่างด้าวที่ใช้คนไทยเป็นนอมินี แล้วเข้ามาทำธุรกิจของคนไทยให้หมดไปจากประเทศโดยเร็ว เพราะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ”นายนภินทรกล่าว
ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหานอมินีใน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น กำหนดให้เห็นผลภายใน 1-3 เดือน จะใช้อำนาจของทุกหน่วยงานในการตรวจสอบ สืบสวน สอบสวนบุคคล หรือธุรกิจเสี่ยง และดำเนินคดี รวมถึงแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างฐานข้อมูลเดียวกัน ที่จะใช้สืบสวน สอบสวน ตรวจสอบหาธุรกิจที่กระทำผิดและเข้าข่ายนอมินี
ส่วนระยะกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างจัดทำระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคค ที่มีผลต่อการการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (IBAS) เพื่อจับผิดนิติบุคคลเสี่ยง คาดว่า จะเสร็จในไม่เกิน 6 เดือน และระยะยาว จะแก้ไขกฎหมายสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่รับจดทะเบียนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมายของปปง. เช่น อาชญากรข้ามชาติ มีชื่อเป็นกรรมการในบริษัท ที่จะขอจดทะเบียนจัดตั้ง จากปัจจุบัน ที่ต้องรับจดให้ เพราะตามอำนาจหน้าที่ จะไม่รับจดเฉพาะบุคคลล้มละลาย และบุคคลไร้ความสามารถเท่านั้น โดยการแก้ไขกฎหมายน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี รวมทั้งอาจเพิ่มบทลงโทษกรณีการเป็นนอมินีให้มากขึ้น เพื่อให้เกรงกลัวการกระทำผิด
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง