​บริษัทตั้งใหม่ 10 เดือน 76,953 ราย เพิ่ม 2.18% คาดปีหน้ามีนิติบุคคลทะลุ 1 ล้านราย

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่ เดือน ต.ค.67 มีจำนวน 7,267 ราย เพิ่ม 9.33% ทุนจดทะเบียน 30,149.01 ล้านบาท เพิ่ม 10.80% เลิกกิจการ 2,516 ราย เพิ่ม 12.32% ทุนจดทะเบียน 9,899.41 ล้านบาท เพิ่ม 10.56% รวม 10 เดือน ตั้งใหม่ 76,953 ราย เพิ่ม 2.18% เลิก 14,762 ราย ลด 3.20% ทั้งปีตั้งใหม่เกิน 9 หมื่นราย โต 5-15% คาดหลังกลางปีหน้า ไทยจะมีนิติบุคคลแตะ 1 ล้านรายแน่  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ต.ค.2567 มีจำนวน 7,267 ราย เพิ่มขึ้น 9.33% ทุนจดทะเบียน 30,149.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.80% เพราะมี 2 บริษัท ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท ควบรวมกิจการกัน คือ แม็คโคร กับโลตัส เป็นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ส่วนการจัดตั้งใหม่รวม 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 76,953 ราย เพิ่มขึ้น 2.18% ทุนจดทะเบียน 238,630.39 ล้านบาท ลดลง 54.25% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และแปรสภาพบิ๊กซีเป็นบริษัทมหาชน โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ส่วนการจดทะเบียนเลิกเดือน ต.ค.2567 มีจำนวน 2,516 ราย เพิ่มขึ้น 12.32% ทุนจดทะเบียน 9,899.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.56% โดยเดือน ต.ค. มีนิติบุคคลที่เลิกกิจการมีทุนเกิน 1,000 ล้านบาท 1 ราย คือ บริษัท เอพี เอ็มอี 2 จำกัด ทุนจดทะเบียนเลิก 2,001 ล้านบาท และธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร และยอดรวมเลิกกิจการ 10 เดือน มีจำนวน 14,762 ราย ลดลง 3.20% ทุนจดทะเบียน 125,904.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.34% เพราะเดือน พ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ทุนจดทะเบียน 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ ทำให้ทุนเลิกสูงกว่าปกติ ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ทั้งนี้ คาดการณ์จดทะเบียนในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค.) จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปีงบประมาณ 2568 ได้เริ่มแล้ว ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภคฟื้นตัว มีการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค ทำให้มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อรองรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าทั้งปี จะตั้งบริษัทใหม่เกิน 90,000 ราย เพิ่มขึ้น 5-15%



สำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 ต.ค.2567 จำนวน 841,727 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.34 ล้านล้านบาท แยกเป็นบริษัทจำกัด 737,658 ราย สัดส่วน 78.33% ทุนรวม 16.15 ล้านล้านบาท สัดส่วน 72.30% ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 202,588 ราย สัดส่วน 21.51% ทุนรวม 0.47 ล้านล้านบาท สัดส่วน 2.11% และบริษัทจำกัดมหาชน 1,481 ราย สัดส่วน 0.16% ทุนรวม 5.72 ล้านล้านบาท สัดส่วน 25.59% โดยคาดว่า หลังกลางปี 2568 จะมีบริษัทจดทะเบียนทะลุ 1 ล้านราย  
         
นางอรมนกล่าวว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 10 เดือน มีจำนวน 786 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 605 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 211 ราย สัดส่วน 27% ลงทุน 91,700 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 110 ราย สัดส่วน 14% ลงทุน 14,779 ล้านบาท 3.จีน 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 13,806 ล้านบาท 4.สหรัฐฯ 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 4,552  ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 57 ราย สัดส่วน 7% ลงทุน 14,461 ล้านบาท
         
ทางด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 10 เดือน มีจำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 128% มูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146% เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง