กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่ เดือน ส.ค.67 มีจำนวน 7,599 ราย เพิ่ม 2.36% ทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท ลด 29.13% ส่วนยอดเลิก 2,063 ราย เพิ่ม 2.79% ทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เพิ่ม 96.28% เหตุปีก่อนมีบริษัทสื่อสารเลิกกิจการ ทำให้ทุนเลิกสูงกว่าปกติ รวม 8 เดือน ตั้งใหม่ 61,819 ราย เพิ่ม 0.42% เลิก 9,992 ราย ลด 8.92% คาดทั้งปีตั้งใหม่ 9-9.8 หมื่นราย ชี้ธุรกิจร้านอาหาร มีแนวโน้มโตต่อเนื่อง รายได้ 3 ปีย้อนหลังเพิ่มเฉลี่ยปีละ 6.3 หมื่นล้าน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ส.ค.2567 มีจำนวน 7,599 ราย เพิ่มขึ้น 2.36% ทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท ลดลง 29.13% โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ส่วนการจัดตั้งใหม่รวม 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวน 61,819 ราย เพิ่มขึ้น 0.42% ทุนจดทะเบียน 186,432.87 ล้านบาท ลดลง 60.35% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และบิ๊กซีโดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
สำหรับการจดทะเบียนเลิกเดือน ส.ค.2567 มีจำนวน 2,063 ราย เพิ่มขึ้น 2.79% ทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.28% เพราะการเลิกในเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง ที่มีทุนจดทะเบียน 4,411.50 ล้านบาท โดยธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร และยอดรวม 8 เดือน มีจำนวน 9,992 ราย ลดลง 8.92% ทุนจดทะเบียน 99,393.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.89% เพราะเดือน พ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ทุนจดทะเบียน 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ ทำให้ทุนเลิกสูงกว่าปกติ ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ทั้งนี้ แนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ในระยะต่อไป กรมคาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 และเริ่มงบประมาณปี 2568 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยทั้งปีตั้งเป้าไว้ที่ 90,000-98,000 ราย แต่ก็ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และอุทกภัย
นางอรมนกล่าวว่า กรมได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารเชิงลึก พบว่า มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังจากพ้นช่วงโควิด-19 ระบาด โดยปี 2566 ตั้งใหม่ 4,017 ราย เพิ่ม 32.97% ทุนจดทะเบียน 8,078.63 ล้านบาท เพิ่ม 22.62% ส่วน 8 เดือนปี 2567 ตั้งใหม่ 2,847 ราย ลด 2% มูลค่าทุน 5,826.03 ล้านบาท ลด 1.6% แต่ก็ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดี ส่วนรายได้ย้อนหลัง 3 ปี พบว่า รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 63,000 ล้านบาท โดยปี 2564 มีรายได้ 179,645.68 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 244,412.99 ล้านบาท เพิ่ม 36.05% และปี 2566 มีรายได้ 306,618.54 ล้านบาท เพิ่ม 25.45%
ส่วนการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจร้านอาหาร พบว่า มูลค่าลงทุนอยู่ที่ 29,071.35 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ มูลค่า 6,075.23 ล้านบาท เพิ่ม 20.90%, ญี่ปุ่น 3,162.46 ล้านบาท เพิ่ม10.88%, จีน 2,326.24 ล้านบาท เพิ่ม 8.00%, อินเดีย 2,168.02 ล้านบาท เพิ่ม 7.46% และฝรั่งเศส 1,607.03 ล้านบาท เพิ่ม 5.53%
“ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโต มาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการร้าน การสั่งอาหาร การโฆษณาออนไลน์ ทำให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องตั้งร้านในแหล่งคนพลุกพล่าน มีการทำอาหารให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ทั้งออร์แกนิก วัตถุดิบจากต่างประเทศ มีอาหารแบบ Fine Dining และ Chef’s Table และร้านสวย มีมุมให้ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ทำให้ร้านอาหารขยายตัวได้ต่อเนื่อง บวกกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น และกรมเองยังได้ขับเคลื่อนร้านอาหารไทย ผ่านการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทำให้ร้านอาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น”นางอรมนกล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง