​“พาณิชย์”ดับกังวล หลังเตรียมเปิดประมูล ข้าว 10 ปี ยันเข้มมาตรฐานทั้งส่งออก ขายในประเทศ

img

“พาณิชย์”ชี้แจงขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานการส่งออก “ข้าวหอมมะลิไทย” หลังสังคมมีความกังวลกรณีกำลังจะเปิดประมูลข้าวหอมมะลิในสต๊อกรัฐบาลที่เก็บมานาน 10 ปี ยันการส่งออก มีหลัก มีเกณฑ์เข้ม ต้องผ่านการตรวจสอบก่อนว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทยแท้ ไม่มีข้าวชนิดอื่นปน ถึงจะอนุญาตให้ส่งออกได้ และยังตรวจลึกถึงค่าอมิโลสและความบริสุทธิ์โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้ซื้อ มั่นใจได้ ส่วนในประเทศ ข้าวที่จำหน่าย ก็มีการกำหนดมาตรฐานเข้มข้นเช่นเดียวกัน  
         
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ถึงกรณีมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพมาตรฐานส่งออกสินค้าข้าวของไทย หลังจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์เปิดประมูลข้าวสารหอมมะลิในสต๊อกรัฐบาล ที่เก็บมาแล้ว 10 ปี ว่า การส่งออกข้าวหอมมะลิไทย กระทรวงพาณิชย์มีการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 ซึ่งกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้ชัดเจน ดังนั้น ข้าวหอมมะลิที่จะนำไปส่งออก จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานก่อน หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็จะไม่มีการออกใบรับรอง และไม่สามารถส่งออกได้
         
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ เริ่มจากเมื่อผู้ส่งออกประสงค์จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมการค้าต่างประเทศ ขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย และต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า โดยมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าไปสุ่มกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) และเมื่อผลการตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะออกใบรับรองให้ผู้ส่งออกไปประกอบพิธีการศุลกากร เพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยได้
           
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบ ได้กำหนดให้ตรวจสอบ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะตรวจ ณ สถานที่ส่งออก เริ่มจากการสุ่มตัวอย่าง โดยสุ่มจากกองสินค้าเพื่อให้ได้ตัวอย่างสินค้าที่ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด ในกรณีสินค้าบรรจุกระสอบ จะสุ่มชักตัวอย่างทุกกระสอบ และนำมาตรวจทางกายภาพ ตรวจความบริสุทธิ์ของข้าวว่ามีข้าวชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปลอมปนหรือไม่ ตรวจขนาดความยาวของเมล็ด สีของเมล็ด สิ่งเจือปน และความชื้น เป็นต้น โดยจะตรวจทุก 200 ตัน ที่มีการตรวจปล่อย เช่น สินค้า 1,000 ตัน จะตรวจทางกายภาพ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และยังจะเก็บตัวอย่างเอาไว้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
         


สำหรับครั้งที่ 2 จะตรวจหาค่าต่าง ๆ เหมือนกับการตรวจ ณ สถานที่ส่งออก แต่จะใช้เวลาตรวจสอบมากกว่า เนื่องจากใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจเพิ่มในบางรายการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น เช่น การตรวจความนุ่มโดยการหาค่าอมิโลส และการตรวจความบริสุทธิ์โดยการสลายเมล็ดข้าวในด่าง เป็นต้น ส่วนการตรวจสารตกค้าง จะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อว่าจะให้ตรวจหรือไม่อย่างไร เป็นกรณี ๆ ไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลข้าวหอมมะลิที่เก็บไว้ในสต๊อกประมาณ 10 ปี และมีการระบุว่าข้าวที่เปิดประมูลนี้ จะถูกนำไปขายให้กับประเทศในแอฟริกา ทำให้เกิดข้อกังวลว่าข้าวมีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ จะส่งออกข้าวที่เก็บไว้ 10 ปี ไปขายจริงหรือ และประเทศผู้ซื้อเอง ก็มีความกังวล ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาชี้แจงว่าการส่งออกข้าว จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็ส่งออกไม่ได้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจในการกำกับดูแลการส่งออกข้าวของไทย

ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าข้าวจะถูกนำมาจำหน่ายในประเทศ เพราะเป็นการเปิดประมูลทั่วไป ผู้ซื้อจะนำข้าวไปขายในประเทศหรือส่งออกก็ได้ ซึ่งการจำหน่ายในประเทศ กรมการค้าภายใน มีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลุบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศไว้ชัดเจนเช่นเดียวกัน หากไม่ผ่านมาตรฐาน ก็จะไม่อนุญาตให้ใช้ตรารับรอง หรือหากสุ่มตรวจแล้ว พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะตักเตือน พักใช้ หรือเพิกถอนการใช้ตรารับรองก็ได้

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง