อคส.เผย เตรียมออกประกาศทีโออาร์เปิดประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาล ปี 2556/57 ซึ่งเป็นล็อตสุดท้ายปริมาณ 1.5 หมื่นตัน กลางเดือน พ.ค.นี้ คาดได้ผู้ชนะประมูลต้นเดือน มิ.ย. เผยข้าวล็อตนี้ เปิดประมูลมาต่อเนื่อง ล่าสุดปี 63 แต่ที่ขายไม่ได้ เหตุผู้ชนะประมูลทิ้งสัญญา อคส.ต้องฟ้องร้อง ย้ำก่อนขายสู่ผู้บริโภค ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพข้าวก่อน แต่การพิสูจน์ข้าวปลอดภัยสำหรับบริโภคหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ อคส.
นายกฤษณรักษ์ ใจดี นักบริหาร 9 รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และรักษาการแทนผู้อำนวยการ อคส. เปิดเผยว่า ขณะนี้ อคส. อยู่ระหว่างการพิจารณาออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเปิดประมูล (ทีโออาร์) ข้าวสารหอมมะลิปริมาณ 15,000 ตัน จากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จและออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลได้กลางเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้นำคณะลงพื้นที่โกดังเก็บข้าวที่ จ.สุรินทร์ 2 แห่ง เพื่อพิสูจน์คุณภาพของข้าวไปแล้ว
“หลังจากออกประกาศทีโออาร์ อคส. จะเปิดชี้แจงทีโออาร์ให้กับผู้สนใจได้รับทราบ จากนั้นจะเปิดโกดังให้ผู้สนใจไปตรวจสอบคุณภาพข้าว เปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติของผู้ที่จะประมูล ตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ จากนั้นจะเปิดให้ยื่นซองเสนอราคา และเปิดซองราคา พิจารณาและต่อรองราคา และประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลราว ๆ ต้นเดือนมิ.ย. ส่วนราคาขาย น่าจะขายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาท หรือได้มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 270 ล้านบาท หลังจากนั้นจะนำเงินส่งคืนคลัง และปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้ทั้งหมด”
สำหรับข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้ เป็นข้าวจากโครงการรับจำนำปี 2556/57 ซึ่งที่ผ่านมา อคส.ได้เปิดประมูลมาอย่างต่อเนื่อง แต่การประมูลล่าสุด เมื่อปี 2563 ผู้ชนะประมูลไม่มารับมอบข้าว หรือไม่จ่ายเงินชำระค่าข้าว เพราะประมูลซื้อจาก อคส. ในราคาแพง แต่หลังจากนั้น ราคาตลาดลดลงมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออก การขนส่งสินค้าหยุดชะงัก และราคาข้าวลดลง ผู้ซื้อจึงยอมทิ้งข้าว หรือยอมทำผิดสัญญา เป็นเหตุให้ อคส. ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และฟ้องร้องดำเนินคดีในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประมูลครั้งสุดท้ายปี 2563 อคส.ได้พยายายามเปิดประมูลอีก 2-3 ครั้ง แต่ยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ เพราะมีการร้องเรียนเรื่องรายละเอียดของทีโออาร์ จึงได้ยกเลิก และนำมาเปิดประมูลใหม่ แต่ก็เป็นช่วงปรับเปลี่ยนรัฐบาลพอดี ทำให้ต้องชะลอการประมูลออกไปก่อน จนมาถึงครั้งล่าสุดที่จะประมูลในเดือนพ.ค.นี้
ส่วนกรณีที่จะพิสูจน์ว่าข้าวมีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้หรือไม่นั้น อคส. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพข้าวในช่วงก่อนฝากเก็บข้าวในโกดัง และตลอดระยะเวลาการฝากเก็บ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความปลอดภัยของข้าว น่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลมากกว่า แต่ก่อนการนำข้าวไปขายสู่ผู้บริโภค โดยทั่วไป ผู้ชนะประมูลต้องปรับปรุงคุณภาพข้าวก่อนอยู่แล้ว เช่น การอบข้าว ขัดสี แยกเมล็ดแตกหักออก เป็นต้น แต่ทราบว่า ผู้ส่งออก สนใจประมูลเพื่อส่งออก เพราะมีหลายประเทศที่นิยมบริโภคข้าวเก่า ข้าวสีเหลือง ไม่นิยมข้าวเมล็ดสีขาว เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง