​“พาณิชย์” เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน พอใจผลงานลดค่าครองชีพ ดูแลสินค้าเกษตร

img

“พาณิชย์”เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เดือน ก.พ.67 ทุกอำเภอทั่วประเทศ พบพอใจผลงานการลดค่าครองชีพสูงสุด ตามด้วยการดูแลราคาสินค้าเกษตร การปรับการทำงานให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลง การสร้างแต้มต่อด้วย FTA และการบูรณาการทำงานของพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ เตรียมลุยสร้างผลงานต่อ เพื่อดูแลเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือน ก.พ.2567 ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ว่า การจัดทำผลสำรวจในครั้งนี้ ได้จัดกลุ่มนโยบายและการดำเนินงานออกเป็น 10 ด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ตอบแบบสอบถาม โดยภาพรวมพบว่า ผลงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนมีความพึงพอใจปานกลาง–มาก 5 อันดับแรก คือ นโยบายด้านการลดค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 83.57 ของผู้ตอบทั้งหมดที่ทราบนโยบาย ตามด้วยด้านการดูแลราคาปริมาณสินค้าเกษตรและการตลาดแบบครบวงจร ร้อยละ 81.20 ด้านการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 80.61 ด้านการผลักดันและสร้างแต้มต่อด้วยข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA ร้อยละ 80.30 และด้านการบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการค้า ร้อยละ 79.95
         
โดยนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจสูงสุด 2 อันดับแรก จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว และเห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลาที่รวดเร็ว อาทิ การลดค่าครองชีพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับผู้ประกอบการจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดอย่างต่อเนื่อง และมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น สินค้าข้าว ที่มีมาตรการรองรับปีการผลิต 2566/2567 เพื่อช่วยให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาเหมาะสม ขณะที่นโยบายอื่น ๆ ที่ได้รับความพึงพอใจรองลงมา เป็นนโยบายที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานมากกว่า อาทิ การผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี FTA หรือเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นสนับสนุนประชาชนเฉพาะกลุ่ม อาทิ การบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการ ในการส่งออกสินค้าท้องถิ่นไปต่างประเทศ  
         
สำหรับการพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า นโยบายการลดค่าครองชีพประชาชน เป็นนโยบายที่ได้รับความพึงพอใจเป็นอันดับแรกในกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง ร้อยละ 88.82 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 83.98 และภาคเหนือ ร้อยละ 83.36 ขณะที่ผู้อาศัยในภาคใต้ มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายด้านการสร้างโอกาสทางการค้า สร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ นวัตกรรม และการพัฒนามาตรฐาน SMEs ร้อยละ 83.48 ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาให้นกกรงหัวจุกเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายด้านการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 85.59
         
ส่วนการพิจารณาเป็นรายอาชีพ พบว่า นโยบายด้านการลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาชนเกือบทุกอาชีพมีความพึงพอใจเป็นอันดับแรก ทั้งพนักงานของรัฐ ร้อยละ 87.63 ผู้ไม่ได้ทำงาน ร้อยละ 86.54 ผู้ประกอบการ ร้อยละ 85.61 พนักงานเอกชน ร้อยละ 83.17 เกษตรกร ร้อยละ 80.99 และอาชีพอิสระ ร้อยละ 80.15 ขณะที่นักศึกษามีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายด้านการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี ร้อยละ 87.68
         


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA การปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ และนโยบายการเร่งรัดการส่งออก เป็นนโยบายที่นักศึกษา มีความพึงพอใจสูงสุด 3 อันดับแรก ซึ่งอาจสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าของไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางการค้าในระยะยาว สำหรับนโยบายที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการ อย่างครบวงจร ครอบคลุมการผลิตและการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การดูแลราคาและปริมาณสินค้าเกษตร การดูแลราคาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกทางการค้า การขยายช่องทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ และการบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าท้องถิ่นได้รับความพึงพอใจอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ทางด้านการพิจารณาตามช่วงรายได้ พบว่า ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จะมีความพึงพอใจต่อการลดค่าครองชีพประชาชนเป็นอันดับแรก แบ่งเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 82.27 ระหว่าง 10,001–30,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 83.50 และ 30,001–50,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 85.12 ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 88.17 และการลดค่าครองชีพเป็นอันดับสอง ร้อยละ 86.27

“ผลการสำรวจครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจค่อนข้างมากต่อการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะนโยบายด้านการลดค่าครองชีพที่ได้รับความพึงพอใจสูงที่สุด ทั้งในภาพรวมและครอบคลุมในหลายภูมิภาค สาขาอาชีพ และระดับรายได้ รวมถึงนโยบายด้านการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ ตลอดจนนโยบายเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าและการแข่งขันของไทย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำให้ประชาชนยอมรับและพึงพอใจต่อผลงานได้ แม้ทำงานเพียงไม่นาน”นายพูนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งมั่นและทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การผสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก สร้างรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วน การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งล่าสุดได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา แล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา รวมถึงการเจรจาระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) และไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนภาคการส่งออก ที่กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนส่งเสริมรวมแล้วกว่า 400 กิจกรรม โดยให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง