กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนเจรจา FTA ปี 67 เร่งผลักดันเจรจา FTA คงค้างกับอียู เอฟตา อาเซียน-แคนาดา ยูเออี ตุรกี ปากีสถาน ให้จบโดยเร็ว เตรียมเปิดเจรจา FTA กับเกาหลีใต้ และประเทศเป้าหมายใหม่อีกเพียบ พร้อมใช้เวที JTC กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับคู่ค้า ลงพื้นที่ติวเข้มใช้ประโยชน์ FTA ขยายโอกาสการค้าไทยในตลาดต่างประเทศ
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยในปี 2567 ว่า กรมมีแผนที่จะเจรจา FTA ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับเจรจาจัดทำ FTA เพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย โดยจะเร่งเจรจา FTA ที่คงค้างอยู่ให้สำเร็จโดยเร็ว คือ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Trade Association: EFTA) หรือ เอฟตา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดย EFTA เป็นกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่ไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วย และจะผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ขณะนี้ ได้เปืดการเจรจาไปแล้ว ให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว รวมถึง FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งกรอบอาเซียน-แคนาดา FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ FTA ไทย-ตุรกี FTA ไทย-ปากีสถาน
ทั้งนี้ มีแผนที่จะเปิดการเจรจา FTA ฉบับใหม่เพิ่มเติม เช่น FTA ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาย ไทย-อิสราเอล ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-กลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ไทย-สหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) ไทย-ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Mercosur) และไทย-กลุ่มประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC)
สำหรับการขยายความร่วมมือทางการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า จะใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ระดับรัฐมนตรีหารือกับประเทศคู่ค้าของไทย เช่น กัมพูชา เกาหลีใต้ มาเลเซีย สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ศอ.บต. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA และชี้ช่องโอกาสในการทำตลาดต่างประเทศ ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น เชียงราย ราชบุรี จันทบุรี บุรีรัมย์ ขอนแก่น สงขลา และยะลา เพื่อขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปในพืื้นที่ ทั้งผลไม้ ชา กาแฟ โกโก้ ผ้าทอ งานหัตถกรรม อัญมณีและเครื่องประดับ สู่ตลาดการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง
ส่วนความสำเร็จการเจรจา FTA ในปี 2566 ไทยสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ตามเป้าหมาย และมีแผนลงนามความตกลงฯ ในช่วงเดือน ก.พ.2567 โดยสินค้าและบริการที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และพลาสติก การท่องเที่ยว ก่อสร้าง ขนส่งและโลจิสติกส์ และค้าปลีก
ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศคู่ค้า FTA มีมูลค่า 317.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลเดลง 4.4% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 154.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 163.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทย อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง