​สนค.วิเคราะห์ 10 ปี ผลิตภัณฑ์ผสมกาวเครือขาว พบเติบโตต่อเนื่อง แนะไทยผลิตป้อนตลาด

img

สนค.วิเคราะห์สถานการณ์ตลาด แนวโน้มผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกาวเครือขาว พบมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปี มีการใช้ผสมในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย และผลิตภัณฑ์สุขภาพรวม 159 รายการ ญี่ปุ่นนำโด่ง ตามด้วยเกาหลีใต้ และไทย ชี้เป็นโอกาสที่จะต่อยอดเป็น Soft Power เหตุเป็นพืชสมุนไพรที่มีอัตลักษณ์ของไทย แต่ควรจะเริ่มตลาดในประเทศก่อน และขยายให้เป็นของฝากนักท่องเที่ยว
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาสถานการณ์ตลาด และแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาว (Pueraria mirifica) จากฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์เปิดตัวใหม่ทั่วโลก (Global New Products Database - GNPD) รวบรวมโดยบริษัท วิจัยตลาด Mintel พบว่า ในช่วงปี 2556–2566 มีการรายงานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาว ในกลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (Beauty & Personal Care) และกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Health) รวมจำนวน 159 รายการ โดยประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย  33 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 20.8% ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวทั้งหมด 2.ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและคอ 30 รายการ สัดส่วน 18.9% 3.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า 26 รายการ สัดส่วน 16.4% 4.ยาสระผม 10 รายการ สัดส่วน 6.3% และ 5.ผลิตภัณฑ์ดูแลดวงตา 9 รายการ สัดส่วน 5.7%
         
สำหรับแหล่งผลิตสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาว 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 64 รายการ สัดส่วน 40.3% ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวทั้งหมด 2.เกาหลีใต้ 24 รายการ สัดส่วน 15.1% 3.ไทย 13 รายการ สัดส่วน 8.2% 4.จีน 5 รายการ สัดส่วน 3.1% และ 5.ไต้หวัน 3 รายการ สัดส่วน 1.9%
         
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวที่ผลิตจากไทย จำนวน 13 รายการ แยกเป็นสบู่ก้อน 3 รายการ สัดส่วน 23.1% ของจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวที่ผลิตจากไทย ยาสระผม 3 รายการ สัดส่วน 23.1% ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย 2 รายการ สัดส่วน 15.4% ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและคอ 2 รายการ สัดส่วน 15.4% และผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้น 1 รายการ สัดส่วน 7.7%
         
ส่วนตลาดที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 69 รายการ สัดส่วน 43.4% ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวทั้งหมด 2.ไทย 34 รายการ สัดส่วน 21.4% 3.เกาหลีใต้ 18 รายการ สัดส่วน 11.3% 4.อินโดนีเซีย 6 รายการ สัดส่วน 3.8% และ 5.ไต้หวัน 4 รายการ สัดส่วน 2.5% โดยทั้ง 5 ตลาดรวมกัน มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวที่วางจำหน่ายทั้งหมดทั่วโลก
         


นายพูนพงษ์กล่าวว่า กวาวเครือขาวเป็นสมุนไพรที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย อีกทั้งเป็นที่รู้จักในชื่อ “ไทย คุดซู” (Thai Kudzu) สามารถต่อยอดผลักดันเป็น Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยได้ แต่บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไม่อนุญาตให้ใช้กวาวเครือขาวเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากยังไม่เคยมีหลักฐานการบริโภคมาก่อนในเกาหลีใต้ และอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ดังนั้น การส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือขาวของไทย อาจเริ่มจากตลาดภายในประเทศก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยเกิดความมั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัย และเมื่อเป็นที่ยอมรับของตลาดภายในประเทศแล้ว ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สามารถซื้อเป็นของฝากจากเมืองไทย
         
สมุนไพรกวาวเครือขาว เป็นสมุนไพรพื้นเมืองของไทย เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชไม้เลื้อยหรือพืชตระกูลถั่ว ส่วนหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะกลม มีอายุหลายปี มีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อมีสีขาวคล้ายมันแกว มียางและมีสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง จึงถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืนในสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน และมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์อื่น ๆ เช่น ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของกระดูก และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น โดยที่ผ่านมา กวาวเครือขาวยังถูกใช้เป็นยาแผนไทยมาเป็นเวลานาน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ได้กำหนดให้กวาวเครือขาวอยู่ในกลุ่มสมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็น Herbal Champion หรือสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงของไทย
         
ทางด้านการนำเข้าส่งออก ยังมีไม่มาก โดยข้อมูลจากใบขนสินค้าของกรมศุลกากร พบว่า ในปี 2565 ไทยนำเข้าสารสกัดจากกวาวเครือขาวจากเกาหลีใต้ ประมาณ 1 กิโลกรัม และส่งออกในรูปแบบแห้งและผง ประมาณ 590 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นแบบผง โดยส่งออกไปยังไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และอิตาลี เป็นต้น สารสกัดรูปแบบผง ประมาณ 200 กิโลกรัม ส่งออกไปยังมาเลเซีย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย และสารสกัดรูปแบบน้ำ ประมาณ 80 กิโลกรัม ส่งออกไปจีน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้ กวาวเครือขาวมีการนำไปแปรรูปเป็นสารสกัด และใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด แต่เนื่องจากไม่มีพิกัดศุลกากรที่จะจำแนกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพร จึงทำให้ไม่ทราบมูลค่าการส่งออกที่แน่ชัดของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรกวาวเครือขาว
         
นอกจากนี้ บริษัทวิจัยตลาด Euromonitor International รายงานข้อมูลการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดโลก ในปี 2565 มีมูลค่า 56,104.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.2% ประเทศที่มีมูลค่าการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีสัดส่วน 33.2% 15.2% และ 6.1% ของมูลค่าการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดโลกตามลำดับ สำหรับไทย ตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมูลค่า 1,534.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.3% คิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของตลาดโลก โดยไทยอยู่ในอันดับ 8 ของโลก

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง