
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดสัมมนา นำผลเจรจาอัปเกรด FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ชี้แจงให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และผู้สนใจได้รับทราบ ชี้ไทยได้ประโยชน์ ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า สนับสนุน SMEs การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส พร้อมแนะผู้ประกอบการให้ความสำคัญประเด็นสิ่งแวดล้อม การปล่อยคาร์บอน ลุย BCG ก่อนรวบรวมผล นำเสนอ ครม. อนุมัติไทยไปลงนาม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ น.ส.จณัญญา บัณฑุกุล ผู้อำนวยการสำนักอเมริกา แปซิฟิกและองค์การระหว่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “อัปเกรด FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ยกระดับการค้าไทยสู่ตลาดโลก” ณ โรงแรม เรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และผู้สนใจ ได้รับทราบผลการปรับปรุงความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 และได้เริ่มมีการเจรจาเพื่อทบทวนและปรับปรุงความตกลงเมื่อปี 2564 ซึ่งต่อมาหาข้อสรุปการเจรจาได้สำเร็จในปลายปี 2565
น.ส.จณัญญากล่าวว่า ความตกลง AANZFTA ฉบับปรับปรุงใหม่ เกิดประโยชน์กับไทยในหลายด้าน โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มประเด็นการค้าใหม่ ๆ ที่สอดรับกับบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไว้ด้วย เช่น การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐให้มีความโปร่งใสและนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ และการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจกับประเด็นใหม่ ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอน การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุน SMEs การพัฒนาสาขาเศรษฐกิจใหม่ ๆ ทั้งเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก รวมถึงยกระดับมาตรฐานและสุขอนามัยของสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และรับมือกับการค้าในปัจจุบันและอนาคต
“กรมมีแผนที่จะนำผลการเจรจาอัปเกรดความตกลง AANZFTA ผนวกกับความเห็นที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ เสนอให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ไทยไปร่วมลงนามความตกลง AANZFTA ฉบับปรับปรุงต่อไป”น.ส.จณัญญากล่าว
ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศ คือ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลงนามความตกลงฉบับปรับปรุงแล้ว ยังเหลือไทย เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา และ สปป.ลาว ที่จะต้องเร่งลงนามความตกลงดังกล่าว และหลังจากการลงนามแล้ว จะเป็นขั้นตอนการให้สัตยาบันความตกลง ซึ่งจะขึ้นกับการดำเนินกระบวนการภายในของแต่ละประเทศสมาชิก โดยในส่วนของไทย จะต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลงของไทย ซึ่งความตกลงจะมีผลบังคับใช้เมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 4 ประเทศ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ให้สัตยาบันแล้ว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง