​“พาณิชย์”รวมประกาศ Form RCEP จาก 6 เหลือ 1 หลังบังคับใช้ครบทั้ง 15 ประเทศ

img

กรมการค้าต่างประเทศเผย RCEP มีผลบังคับใช้กับสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศแล้ว ออกประกาศฉบับใหม่ รวบประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ทั้ง 6 ฉบับไว้ในฉบับเดียว อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ล่าสุดพบใช้สิทธิ์ RCEP ส่งออกมากขึ้น เหตุกฎถิ่นกำเนิดสินค้าง่ายกว่า FTA อื่น มียอดตั้งแต่ 1 ม.ค.65-31 มี.ค.66 รวม 1,299 ล้านเหรียญสหรัฐ น้ำมันหล่อลื่นนำโด่ง ตามด้วยปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียน
         
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้มีผลบังคับใช้กับสมาชิกทั้ง 15 ประเทศอย่างเต็มรูปแบบแล้ว หลังจากล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ได้มีผลบังคับใช้กับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศสุดท้าย จากที่ก่อนหน้านี้ มีผลบังคับใช้กับ 13 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และเมียนมา และวันที่ 2 ม.ค.2566 บังคับใช้กับอินโดนีเซีย
         
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) กรมฯ ได้ออกประกาศฉบับใหม่ โดยได้รวบรวมประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ทั้ง 6 ฉบับไว้ในฉบับเดียว และคงเนื้อหาสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามที่ความตกลงกำหนดไว้เช่นเดิม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการสืบค้นและอ้างอิงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อสมาชิก 15 ประเทศ ของความตกลง RCEP กฎถิ่นกำเนิดสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules : PSR) ตามพิกัด HS 2022 ระเบียบวิธีปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP และรูปแบบของ Form RCEP เป็นต้น
         


สำหรับการใช้สิทธิ์ FTA ในการส่งออก พบว่า ผู้ประกอบการไทยมีการเลือกใช้ RCEP มากขึ้น เพราะกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ง่ายขึ้น เช่น สินค้าปลาทูน่ากระป๋อง ที่ผ่อนปรนกฎถิ่นกำเนิดสินค้ามากกว่า FTA อื่น ๆ โดยอนุญาตให้สามารถนำปลาที่เป็นวัตถุดิบสำคัญมาจากประเทศใดก็ได้ แม้กระทั่งนอกภาคี และผู้ประกอบการยังสามารถนำวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าจากสมาชิกมาสะสมเป็นเสมือนวัตถุดิบของไทยได้

ส่วนผลการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565-31 มี.ค.2566 มีมูลค่า 1,299 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีการมาขอใช้สิทธิ์มากที่สุด ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น มูลค่า 642 ล้านเหรียญสหรัฐ ปลาทูน่ากระป๋อง มูลค่า 155 ล้านเหรีญสหรัฐ มันสำปะหลังเส้น มูลค่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุเรียนสด มูลค่า 51 ล้านเหรียญสหรัฐ เลนส์ ปริซึม กระจกเงา และวัตถุเชิงทัศนศาสตร์อื่น ๆ สำหรับกล้องถ่าย เครื่องฉาย หรือเครื่องขยาย หรือย่อภาพถ่าย มูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนตามลำดับ

ทางด้านการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP ปัจจุบัน มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การขอ Form RCEP ที่ผู้ประกอบการต้องมารับที่กรมการค้าต่างประเทศ และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Approved Exporter) ที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2564


 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง