“จุรินทร์”เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ดัน FTAAP เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

img

“จุรินทร์”เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ตั้งเป้าผลักดันวาระสำคัญการทำเขตการค้าเสรีเอเปก (FTAAP) การส่งเสริมการค้าในระบบพหุภาคี และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในสถานการณโควิด-19 และในอนาคต ชู 3 ธีมหลัก “Open. Connect. Balance” เน้นเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้า ลงทุน เชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งการเดินทาง ดิจิทัล และสร้างสมดุลการเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ  

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) ที่ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ขอต้อนรับท่านรัฐมนตรีการค้าเอเปก ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน เข้าสู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกประจำปี 2022 ซึ่งประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นในรูปแบบกายภาพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เอเปกมีความจำเป็นต้องจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
         
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีได้ร่วมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินการเอเปกให้มีความคืบหน้าต่อไป โดยเฉพาะวาระการดำเนินการสำคัญ คือ FTAAP รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในระบบพหุภาคีและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตในสถานการณ์โควิด-19 และอนาคต
         


โดยประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้กำหนดธีมหลักในการประชุมเอเปกในปีนี้ คือ “Open. Connect. Balance” โดย Open คือ การเปิดขว้างไปสู่ทุกโอกาสด้านการค้าการลงทุน และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ผ่านมุมมองใหม่ที่เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ทุกภาคส่วนในสังคม ส่วน Connect คือ การเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และสุดท้าย Balance คือ การสร้างสมดุลของการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างรอบด้าน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยประเด็นสำคัญ คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน





ทั้งนี้ ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือที่เรียก BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาเป็นแนวทาง หรือแนวคิดหลักในการขับเคลื่อน SMEs และ Micro SMEs ของทุกเขตเศรษฐกิจ ทั้ง 21 เขต ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือว่าประเด็นนี้ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเอเปกในภาพรวมจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับปานกลาง โดย GDP ของเอเปก ขยายตัว 5.9% ในปี 2021 และจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 4.2% ในปี 2022 และน่าจะขยายตัว 3.8% ในปี 2023 และในปีที่ผ่านมา เอเปกได้มีการรับรองวิสัยทัศน์ปุตราจายา ปี 2040 และแผน “เอาทีอารอ” ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินให้กับเอเปก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีและการพัฒนาการค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ การส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งคนสินค้าและบริการ รวมทั้งระบบการขนส่งการเดินทางของประชาชนและกฎระเบียบ การส่งเสริมให้วิสาหกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลก และการตอบสนองวิกฤตในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะนำไปสู่การเติบโตที่ครอบคลุมทั่วถึงและยั่งยืนของภูมิภาคเอเปก

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกในปีนี้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยกำหนดทิศทางเชิงนโยบายในการฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในด้านต่าง ๆ ภายหลังยุคโควิด-19 และเตรียมรับมือกับวิกฤตที่คล้ายคลึงกันในอนาคตได้เป็นอย่างดี ขอให้ทุกท่านใช้โอกาสของการประชุมครั้งนี้ ขับเคลื่อนการดำเนินการของเอเปกให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว







ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง