ส่งออก ส.ค. ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ยังทำได้ดี บวก 8.93% รวม 8 เดือนโต 15.25%

img

ส่งออกส.ค.64 ชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำโรงงานบางแห่งปิด หรือปิดบางส่วน และโลจิสติกส์มีปัญหาบางช่วง แต่ยังทำได้มูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.93% เผยสินค้าเกษตรโตแรง 45.5% ยางเพิ่ม 98.8% ผลไม้ 84.8% เฉพาะเงาะบวก 431% ทุเรียน 315% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมโต 3.3% ด้านตลาดโตหมด เว้นแค่ 3 ตลาด ด้านยอดรวม 8 เดือน เพิ่ม 15.25% คาดทั้งปีโตเกินเป้า 4% แน่นอน และลุ้นทำตัวเลข 2 หลัก 
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนส.ค.2564 มีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.93% โดยถือว่าชะลอตัวลงจากเดือนก.ค.2564 เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ และบางโรงงานผลิตบางแห่งปิด หรือปิดบางส่วน และระบบโลจิสติกส์มีปัญหาติดขัดจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดี ส่วนยอดรวม 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 176,961.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.25% ยังเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% เยอะพอสมควร
         
ทั้งนี้ การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.92% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบสูงถึง 65.73% จะเป็นผลดีต่อการส่งออกในอนาคต และยอดรวม 8 เดือน มีมูลค่า 175,554.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.97% เกินดุลการค้า 1,406.96 ล้านเหรียญสหรัฐ
         
สำหรับการส่งออกที่ขยายตัว มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 23.6% และหากดูลึกในรายสินค้า พบว่า ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่ม 98.8% บวกต่อเนื่อง 11 เดือน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 84.8% บวก 5 เดือนต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 51.0% บวก 6 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 48.4% บวก 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าวเพิ่ม 25.4% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และอาหารสัตว์เพิ่ม 17.3 บวก 24 เดือนต่อเนื่อง
         


“หากดูเฉพาะสินค้าเกษตร จะบวกสูงถึง 45.5% โดยยางบวก 98.8% เกือบทำได้ 100% ผลไม้ 84.8% ดูลึกลงไป เช่น เงาะ ที่ไม่เคยหยิบมาไฮไลต์ บวก 431% ทุเรียน 315.48% ลำไย ที่เคยกังวลช่วงต้นฤดู บวก 102.67% มังคุด บวก 44.16% ข้าวที่ตัวเลข 7 เดือนไม่ดี เพราะบาทแข็ง แข่งขันเวียดนามและอินเดียไม่ได้ แต่พอบาทอ่อน เศรษฐกิจโลกดีขึ้น มีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ส่งออกส.ค.เริ่มเป็นบวก 25.44% ดูสัญญาณถึงสิ้นปี มีแนวโน้มดี”นายจุรินทร์กล่าว
         
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.3% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 17.8% รถจักรยานยนต์ เพิ่ม 44.3% คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เพิ่ม 10.5% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 35.7% เป็นต้น
         
ขณะที่ตลาดส่งออก พบว่า ขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 16.2% จีน เพิ่ม 32.3% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10% อาเซียน เพิ่ม 15.2% สหภาพยุโรป เพิ่ม 16.1% อินเดียเพิ่ม 44.2% ยกเว้น 3 ตลาด ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และ CLMV ที่ขยายตัวติดลบ
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในเดือนส.ค.2564 ที่ทำให้เป็นบวกได้ มาจากการแก้ไขปัญหาเชิงรุกและต่อเนื่องของ กรอ.พาณิชย์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อังค์ถัดประเมินว่าจะโตเร็วสุดในรอบ 50 ปี โตมากในสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก หรือ PMI เกินระดับ 50 ต่อเนื่อง 14 เดือน แปลว่าพร้อมซื้อ และอย่างน้อยซื้อจากไทยด้วย และค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงหลายเดือน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยสูงขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น
         
ส่วนการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับเอกชนผลักดันการส่งออกต่อไป เพื่อทำรายได้เข้าประเทศต่อไป โดยมั่นใจว่า การส่งออกทั้งปี จะทำได้เกินเป้าหมาย 4% อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นตัวเลข 2 หลักตามที่เอกชนประเมินไว้หรือไม่ ก็จะทำให้ดีที่สุด และเชื่อว่าทำได้

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง