สนค.พัฒนาระบบข้อมูลการค้าเชิงลึก ใช้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ช่วยวางแผนทำธุรกิจ

img

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เดินหน้าพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้า (TIS) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาตามภารกิจพาณิชย์ และให้ผู้ประกอบการใช้เป็นข้อมูลวางแผนทำธุรกิจ หาโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เผยดูข้อมูลได้ผ่าน คิดค้า.com ทั้งการบริหารจัดการสินค้าเกษตร 6 ชนิด เศรษฐกิจระดับจังหวัด การค้าระหว่างประเทศ และบริการโลจิสติกส์ สุขภาพ
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้เดินหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้า (Trade Intelligence System : TIS) ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์การค้าในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ทั้งเรื่องสินค้าเกษตรสำคัญ เศรษฐกิจระดับจังหวัด การค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจบริการศักยภาพ ในรูปแบบ Dashboard แสดงผลข้อมูลและการวิเคราะห์หลายมุมมอง ซึ่งสามารถนำไปกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศและแก้ไขปัญหาตามภารกิจกระทรวงพาณิชย์ได้อย่างทันท่วงที ขณะที่ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชน สามารถเข้าใช้บริการข้อมูลการค้าเชิงลึกสำหรับติดตามสถานการณ์การค้า หาโอกาสและเข้าใจความเสี่ยงจากข้อมูลการค้าในหลายมิติ เช่น สินค้าเกษตร โอทอป การค้าชายแดน การส่งออก และธุรกิจต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ www.คิดค้า.com ซึ่งเป็นช่องทางเผยแพร่ Dashboard รวมทั้งข้อมูลและบทวิเคราะห์ทางการค้าสำหรับผู้ที่สนใจใช้วางแผนธุรกิจ แสวงหาโอกาส และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน
         
สำหรับการดำเนินโครงการ TIS ปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาแล้ว 4 ระบบ ได้แก่ 1.Dashboard ด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตร (Agriculture Policy Dashboard : AD) ซึ่งมี Dashboard เพื่อการบริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญ 6 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง ทุเรียน ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยสอดคล้องกับนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกันและได้ร่วมกันจัดประชุมรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนา Dashboard สินค้าเกษตรสำคัญ 6 ชนิดดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการแล้ว 2 Dashboard ได้แก่ มันสำปะหลังและทุเรียน ส่วน 4 พืชที่เหลือ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา จะพัฒนาเสร็จภายในสิ้นปี 2564 โดย Dashboard ประกอบด้วยข้อมูลการผลิต ราคาตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลาดส่งออกและคู่แข่ง เป็นต้น
         


2.Dashboard ด้านเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Province Policy Dashboard : PD) เปิดให้ใช้บริการแล้ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยผู้ใช้สามารถติดตามชีพจรของจังหวัดในด้านต่าง ๆ เช่น ภาพรวมเศรษฐกิจ ระดับราคา สถานการณ์ธุรกิจ รวมถึงสามารถเจาะลึกศักยภาพเฉพาะของแต่ละจังหวัด เช่น พืชใดที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด สินค้าโอทอปใดที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัด ธุรกิจแต่ละประเภทมีผลการดำเนินการเป็นอย่างไร และสถานการณ์การค้าชายแดนเป็นอย่างไร
         
3.Dashboard ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (Global Demand Dashboard : GD) เพื่อใช้ติดตามภาพรวมการส่งออกของไทยและประเทศคู่ค้าเพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้วยข้อมูลเศรษฐกิจของรายประเทศคู่ค้า ภาพรวมการส่งออกของไทย รวมถึงข้อมูลการวิเคราะห์โอกาสการค้าของไทยทั้งในมิติคู่ค้า คู่แข่ง รายสินค้า และการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งจะพัฒนาเสร็จภายในสิ้นปี 2564
         
4.Dashboard ด้านเศรษฐกิจการค้าภาคบริการ (Trade in Services Dashboard : SD) โดยจะมีรายละเอียดธุรกิจบริการโลจิสติกส์ ที่เปิดให้ใช้บริการแล้ว ประกอบด้วยข้อมูลต่าง ๆ เช่น การเปรียบเทียบความสามารถด้านโลจิสติกส์ไทยกับต่างประเทศ สถานการณ์ด้านการเงินของธุรกิจโลจิสติกส์ โอกาสการดำเนินธุรกิจในประเทศ และโอกาสการขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น และธุรกิจบริการ Wellness ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งจะพัฒนาเสร็จภายในสิ้นปี 2564 ประกอบด้วยข้อมูลต่าง ๆ เช่น การติดตามสถานการณ์ธุรกิจ Wellness ในประเทศไทย การติดตามสถานการณ์ความต้องการผลิตภัณฑ์สุขภาพในต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์โอกาสในการส่งออกและสภาพการแข่งขัน เป็นต้น

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง