“จุรินทร์”โชว์วิชันดันเศรษฐกิจ นำ“พาณิชย์”ผนึกเอกชน เร่งการค้าใน-ต่างประเทศ

img

“จุรินทร์”โชว์วิชั่นดันเศรษฐกิจไทย นำพาณิชย์ผนึกกำลังภาคเอกชนลุยขับเคลื่อนการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อ มีทีมเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศเป็นผู้คอยช่วยเหลือ พร้อมเตือนเอกชนระวังการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่จะรุนแรงขึ้น ต้องปรับตัวให้ทัน แนะศึกษาเตรียมการใช้ประโยชน์จาก RCEP ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ย้ำกองทุน FTA ชงคลังพิจารณาแล้ว หากเห็นด้วย รอเข้า ครม.ต่อไป
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ นโยบายการส่งเสริมการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ และการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาต่ำ เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ และเปิดงานสัมมนา Together is Power 2021 และมอบโล่รางวัลให้กับสมาคมการค้าดีเด่น ปี 2564 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า โควิด-19 ยังจะต้องอยู่กับประเทศไทยและกับโลกอีกนาน สิ่งที่เราต้องคิดและต้องทำ คือ จะนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งตนยืนยัน เน้นย้ำการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน จะต้องยึดหลักรัฐหนุน เอกชนนำ เพราะเอกชน คือ ทัพหน้าในการทำรายได้เข้าประเทศ

“ถ้าเป็นทีมฟุตบอล เอกชนต้องเป็นกองหน้า เพราะต้องทำหน้าที่ยิงประตู ทำคะแนนที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลเป็นแบ็กสนับสนุนการทำหน้าที่ของภาคเอกชน ต้องจับมือร่วมกันอย่างเข้มแข็งแน่นแฟ้น จึงเป็นที่มาของหลักคิดการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งสามารถทำตัวเลขให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด คือ การส่งออก แต่ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจระหว่างรัฐกระทรวงพาณิชย์กับเอกชน อุปสรรคต่าง ๆ จะไม่คลี่คลาย การจับมือร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เข้มข้น และถึงลูกถึงคน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องเดินหน้าร่วมกันต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการค้าจากนี้ไป ทีมเซลล์แมนจังหวัดกับทีมเซลล์แมนประเทศจะต้องเดินหน้าต่อไปให้เข้มแข็ง เข้มข้น และปรากฏเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยทีมเซลล์แมนจังหวัดประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด Biz club จังหวัด Micro SMEs ของจังหวัด YEC ของจังหวัดสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด ตัวแทนเกษตรกร SMEs ทุกฝ่าย จะต้องจับมือกันระหว่างรัฐกับเอกชนขับเคลื่อนในระดับจังหวัด จึงมีความสำคัญและทรงพลังอย่างยิ่งที่จะนำ 77 ทีม มาบวกกันและเป็น กรอ.พาณิชย์ระดับประเทศ ทำตัวเลขยิงประตูให้ประเทศ ซึ่งมีการจับมือ ตื่นตัวในการทำหน้าที่ พืชผลเกษตรราคาตก ทีมเซลล์แมนจังหวัด ขวนขวายและไปถึงขั้นข้ามจังหวัดค้าขายระหว่างกันตามนโยบาย มังคุดใต้ล้น อีสานช่วยซื้อ ลำไยเหนือ ราคาตก จับมือกับทีมเซลล์แมนจังหวัดภาคใต้ ภาคตะวันออกช่วยกันแก้ปัญหา

ส่วนทีมเซลล์แมนประเทศ มีทูตพาณิชย์ 58 แห่ง เป็นหัวเรือใหญ่ จับมือร่วมกับนักธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศทำการค้าส่งออก จับมือกันเป็นทีม ตนให้นโยบายชัดเจนว่าต้องมีเป้าหมาย มีเกณฑ์ เอกชนต้องใช้ทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศให้เข้มข้นขึ้น เป็นนโยบายต้องอุดหนุนเป็นแบ็กให้กับภาคเอกชน โดยเซลล์แมนจังหวัดกับเซลล์แมนประเทศต้องจับมือกันทำงานร่วมกันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป



นอกจากนี้ เห็นว่า ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก ซึ่งที่ผ่านมา ทันอยู่แล้ว แต่จากนี้ต้องเตรียมการรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเข้มข้น หนักข้อขึ้นเป็นลำดับ เพราะภายหลังประเทศพัฒนาแล้วใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาประสบความสำเร็จ หลังจากการรวมตัวกันในระบบพหุภาคี หรือในระบบทวิภาคีในรูป FTA หรือ WTO ทำให้กำแพงภาษีทลายลงภาษีเป็นศูนย์ มาตรการทางภาษีจึงลดความสำคัญลง มาตรการใหม่จึงเกิดขึ้น คือ มาตรการที่มิใช่ภาษี มาเป็นกำแพงกั้นสินค้าที่ไปจากประเทศคู่แข่งหรือประเทศอื่น ๆ ต้องจับตาสิ่งเหล่านี้ใกล้ชิด และกำแพงที่มิใช่ภาษีจะถูกคิดค้นขึ้นมา ทั้งที่กำลังทำและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการแรงงาน มาตรการสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย ล่าสุดภาษีคาร์บอน เพื่อเป้าหมายกีดกันทางการค้าหรือปกป้องการค้าของประเทศ โดยอียูเริ่มแล้วในอีก 2 ปี จะคิดภาษีคาร์บอน 5 สินค้า 1.เหล็ก 2.อะลูมิเนียม 3.ซีเมนต์ 4.ไฟฟ้า 5.ปุ๋ย ขอให้เอกชนทั้งหลายเตรียมการ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มีการเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาผูกมัดติดกับปัจจัยทางการเมือง และกลายเป็นปัจจัยปกป้องกีดกันทางการค้าทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เราจะอยู่ตรงไหน คือ สิ่งที่เราต้องคิด ทุกคนตอบตรงกันว่าเราต้องผนึกกำลังกับอาเซียน จับมือกับอีก 9 ประเทศ จับมือระหว่างอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเราก็ต้องแข่งกัน แต่ความสมดุลอยู่ตรงไหน รัฐต้องคิด เอกชนก็ต้องคิด จับมือให้เข้มข้น เข้มแข็ง แข่งกันระหว่างบริษัท แต่ระหว่างกลุ่มประเทศต้องจับมือกัน ทั้งนี้ เราต้องขายบริการด้วย บริการที่มีศักยภาพ เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ ประเทศไทยไม่แพ้ใคร แต่ขอให้เราส่งเสริม เด็กรุ่นใหม่ไทยเก่งเยอะ เอนิเมชัน ภาพยนตร์ เราต้องช่วยกันหนุน เอกชนต้องกล้าทำกล้านำ รัฐเป็นแบ็ก กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปช่วยคิดช่วยทำ ต้องไม่เน้นการแข่งขันเรื่องราคาอย่างเดียวต้องเน้นคุณภาพ
         
สำหรับการใช้ประโยชน์จาก FTA และการทำสัญญาการค้าระบบพหุภาคี โดยเฉพาะ RCEP กำลังจะมีผลบังคับใช้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนให้สัตยาบัน ซึ่งไทยมีกำหนดการชัดเจนแล้วว่าจะให้สัตยาบันไม่ช้ากว่าเดือนพ.ย.2564 หวังว่าจะบังคับใช้ได้ต้นปีหน้า เราต้องรีบศึกษาข้อตกลงว่ามีอะไรบ้าง จะเป็นอุปสรรคกับธุรกิจของเราอะไร จะได้เปรียบเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซจะแทรกในทุกข้อตกลง

พร้อมกันนี้ อยากเรียนความคืบหน้าเรื่องที่เอกชนเรียกร้องมานาน คือ กองทุน FTA ที่จะตั้งขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการเปิดเสรีการค้า โดยบางคนได้ บางคนเสีย จึงต้องหาทางช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่กี่วันนี้ ตนได้ลงนามถึงกระทรวงการคลัง เรื่องการจัดตั้งกองทุนแล้ว หลังจากผ่าน จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะได้มีกองทุน FTA ที่เรียกร้องมานาน โดยเฉพาะภาคเอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายจุรินทร์ได้มอบรางวัลให้กับสมาคมการค้าดีเด่น 27 สมาคม 57 รางวัล พร้อมย้ำว่าทุกท่านจะปฏิบัติภารกิจลุล่วง เป็นต้นแบบให้กับสมาคมที่ยังไม่ได้รับรางวัลมาพัฒนาตนเองต่อไป และหวังว่าท่านจะเป็นแม่ทัพสำคัญอีกคนหนึ่งของประเทศที่จะทำคะแนนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง