สนค. เผยอีคอมเมิร์ซหนุนบริการโลจิสติกส์รุ่ง แนะธุรกิจปรับตัวสู่ยุค Next Normal

img

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ หนุนบริการโลจิสติกส์ขยายตัวต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่ยุค Next Normal ปรับโมเดลธุรกิจสู่ B2C ลงทุนเน็ตเวิร์ก เข้มสุขอนามัยการขนส่ง ชี้ช่องทำตลาดเจาะกลุ่มผู้สูงอายุ การขนส่งที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม ใช้ AI 5G และ Big Data มาเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ   
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่สั่งการให้ศึกษาโอกาสให้กับธุรกิจไทยจากการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว โดยพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวมากขึ้น จากการที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุค New Normal เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซึ่งคาดว่าจะยังคงอยู่ต่อเนื่อง แม้จะพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว และภายใต้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ธุรกิจบริการโลจิสติกส์มีการขยายตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการรับส่งเอกสารและสิ่งของตามการเติบโตของการค้าออนไลน์ 
         
ทั้งนี้ แม้ธุรกิจบริการโลจิสติกส์จะขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านราคา เทคโนโลยี และการให้บริการ หากผู้ให้บริการต้องการจะอยู่รอด และทำให้ธุรกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง จะต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุค Next Normal โดยเฉพาะธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ จะต้องปรับโมเดลธุรกิจสู่ B2C (Business to Customer) และให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน Network เพิ่มขึ้น มีมาตรการด้านสุขอนามัยในระหว่างการขนส่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น มีระบบรับรองตนเองของบริษัทผู้ขนส่ง (พาหนะขนส่งและพนักงาน) และต้องมีความยืดหยุ่นกรณีเกิดการจำกัดและปรับเปลี่ยนตารางเวลาการเดินรถ เพราะอาจจะมีความเข้มงวดเวลาผ่านจุดผ่านแดน หรือการปิดด่านบางด่านชั่วคราว
         
สำหรับโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ สนค. เห็นว่า ควรหาโอกาสจากช่องว่างทางธุรกิจโลจิสติกส์ โดยการปรับตัวให้สอดคล้องกับ Mega Trend เช่น การให้บริการสังคมสูงอายุ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวมากขึ้น เป็นโอกาสในการให้บริการสินค้ากับบุคคลเฉพาะกลุ่มสูงวัย และปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ เช่น PM2.5 และแนวคิดเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทำให้เกิดแนวโน้มการขนส่งแบบลดมลพิษ การบริหารจัดการการขนส่งที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และรัฐอาจจำเป็นต้องออกข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในด้านการขนส่ง
         


นอกจากนี้ ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ อาทิ  Artificial Intelligence (AI) เทคโนโลยีที่ใช้โรบอทเข้ามาควบคุมการทำงานวางแผนกำลัง การจัดการคลังสินค้า เทคโนโลยี 5G  Internet of Things (IoT) Dynamic Route Planning Systems ระบบช่วยลดระยะทางในการขนส่ง Augmented Reality (AR) ใช้ในการระบุตำแหน่งของสินค้าบนรถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งใช้ออกแบบบริการใหม่ๆ อาทิ บริการประกอบติดตั้งสินค้า หรือบริการซ่อมบำรุง
         
ขณะเดียวกัน ต้องสร้างมาตรฐานความสะอาด ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าและสุขอนามัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลด้วย Big Data (Data Driven Business Model) และการเชื่อมต่อผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ ค้นหาความต้องการเพื่อออกแบบบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการ และสร้างความร่วมมือหรือเป็นหุ้นส่วนเพื่อเกื้อหนุนธุรกิจอื่นเป็น supply chain ผู้ประกอบการรายเล็กอาจต้องมีการรวมกลุ่มกัน หรือเป็นหุ้นส่วนใน supply chain กับธุรกิจอื่นๆ รวมถึง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้
         
อย่างไรก็ตาม สนค. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสร้างเครือข่ายและสร้างโอกาสให้แก่ภาคบริการโลจิสติกส์ รวมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลน่าจะเป็นประโยชน์ โดยได้จัดทำฐานข้อมูลการค้าธุรกิจบริการโลจิสติกส์ ภายใต้ชื่อ “Logistics+” เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพของภาคบริการโลจิสติกส์และสนับสนุนการจัดทำนโยบายการค้าโลจิสติกส์ในอนาคต โดยทุกท่านสามารถใช้งานผ่านเว็บไซต์ www.คิดค้า.com

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง