ครม.ไฟเขียวแผน “อีคอมเมิร์ซแห่งชาติ” ตามที่ “จุรินทร์”เสนอ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 5.35 ล้านล้านบาทในปี 65 ภายใต้แผนปฏิบัติการ 4 ด้าน พัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ พัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุน สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรม และพัฒนาผู้ประกอบการ
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 30 ส.ค.2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรืออีคอมเมิร์ซ ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้นำเสนอ โดยได้ตั้งเป้าเพิ่มการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 4.03 ล้านล้านบาท ให้มีมูลค่า 5.35 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2565
“แผนอีคอมเมิร์ซแห่งชาติฉบับนี้ จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 เกิดการผลักดันการค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงต่างประเทศ เพราะจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มของไทยให้มีความเข้มแข็ง ลดความได้เปรียบของแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน นำไปสู่การมีระบบ Big Data ของประเทศ และยังมีแผนช่วยเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจ ทั้งการลดต้นทุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาผู้ประกอบการ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยแวดล้อมด้านการค้าออนไลน์”นางมัลลิกากล่าว
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (2564-2565) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าข้ามพรมแดน (Enhancement and Promotion) 2.การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) 3.การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability) 4.การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building) พร้อมทั้งรองรับการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมการก้าวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และสอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กล่าวว่า แผนฉบับนี้ทำมาแล้ว 4 ปี เพิ่งมาสำเร็จในยุคที่นายจุรินทร์ เป็นประธานคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นแผนที่ออกมาสอดรับกับสถานการณ์การค้าในโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และยังสอดรับกับการทำงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้ปรับกลยุทธ์การทำงานโดยมุ่งทำการค้าออนไลน์ และการเจรจาการค้าออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เช่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เป็นต้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง