กรมเจรจาฯ นำความคิดเห็น“ถิ่นกำเนิดสินค้า”ใช้เป็นกรอบเจรจา FTA สร้างแต้มต่อไทย

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกางผลระดมความเห็นการศึกษารูปแบบการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ในสินค้าสำคัญ เพื่อนำรูปแบบไปใช้ในการเจรจา FTA เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการผลิตสินค้า การส่งออก และการสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทย
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “ห่วงโซ่อุปทานไทยก้าวไกลด้วย FTA” ว่า มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอร่างผลการศึกษาเรื่องการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบต่างๆ และรูปแบบที่เหมาะสมกับสินค้าส่งออกของไทย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแต้มต่อทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งผู้วิจัยได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) สินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ และสินค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อน เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ และปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น โดยนำเสนอรูปแบบการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าที่อาจใช้เป็นแนวทางในการเจรจา FTA ต่อไป เพื่อให้สินค้าที่ผลิตและส่งออกจากไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ FTA ได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย
         
โดยผลการศึกษา พบว่า การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA มีหลายรูปแบบ เช่น การสะสมถิ่นกำเนิดได้ตามมูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นจริงในภาคี FTA แม้การผลิตจะไม่ผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า โดยรูปแบบนี้ใช้ใน FTA สหภาพยุโรป-แคนาดา และ FTA สหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น รวมถึงการนำมูลค่าของสินค้าที่ผลิตจากประเทศนอกภาคี FTA มาสะสมถิ่นกำเนิดใน FTA ได้ หากประเทศนอกภาคีนั้น ได้จัดทำข้อตกลงต่างหากกับประเทศใน FTA ดังกล่าวแล้วทุกประเทศ โดยรูปแบบนี้ใช้ใน FTA ตุรกี-มาเลเซีย และ FTA สมาคมการค้าเสรียุโรป-แคนาดา เป็นต้น 
         


สำหรับ FTA ที่ไทยเป็นสมาชิกในปัจจุบัน ใช้การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพียง 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การสะสมมูลค่าได้เมื่อวัตถุดิบผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าใน FTA นั้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ใน FTA ทุกฉบับของไทย และ 2.การสะสมที่มีข้อผ่อนปรนโดยสามารถสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้ตามมูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นจริงในภาคี FTA แม้การผลิตดังกล่าวจะไม่ผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า แต่อย่างน้อยมูลค่าการผลิตวัตถุดิบในประเทศนั้น ต้องมีตั้งแต่ร้อยละ 20 แต่ไม่เกินร้อยละ 40 โดยการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบนี้ใช้ในความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ได้ด้วย
         
นอกจากนี้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ ดร.นครินทร์ อมเรศ รองผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันให้ความเห็นต่อโครงการศึกษานี้ว่า การมีข้อมูลห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างการผลิตของสินค้าที่สำคัญ และการเชื่อมโยงการผลิตกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการแบ่งประเภทของวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตสินค้าในขั้นต้นน้ำและกลางน้ำอย่างระเอียด จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าให้เหมาะสม

ทั้งนี้ สำหรับห่วงโซ่อุปทานโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าเป็นหลัก ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องมีนโยบายเพื่อเร่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทย และผู้ประกอบการไทยจะต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตสินค้าให้มากขึ้น เพื่อให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลกในอนาคต
         
“การศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า และรูปแบบห่วงโซ่การผลิตสินค้าต่างๆ ของไทย ช่วยให้กรมฯ มีข้อมูลนำไปปรับปรุงรูปแบบการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าใน FTA ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ FTA ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน และ FTA ที่ไทยมีแผนจะเจรจาจัดทำในอนาคตได้อย่างเต็มที่” นางอรมนกล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง