กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมจัดระดมความคิดเห็นภาครัฐและเอกชน 15 ก.ค.นี้ ยกระดับเอฟทีเอ 3 ฉบับที่อาเซียนทำกับจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ให้มีความทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด เล็งเจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าที่ทั้ง 3 ประเทศยังไม่ได้ลดภาษีนำเข้าให้ไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก รวมถึงการเปิดเสรีด้านการลงทุน และประเด็นอื่น ๆ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเชิญภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประชุมหารือ เรื่องการยกระดับและทบทวนความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อาเซียนทำกับจีน (ACFTA) เกาหลีใต้ (AKFTA) และอินเดีย (AIFTA) ในวันที่ 15 ก.ค.2564 เพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ต้องการให้มีการเพิ่มเติมในการเจรจาปรับปรุง FTA ทั้ง 3 ฉบับ ให้สอดรับกับพัฒนาการทางการค้าโลก และเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด โดยเฉพาะในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้าเพิ่มเติมจากความตกลงเดิม ที่ยังไม่ได้มีการลดภาษี เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าไทย รวมถึงการเปิดเสรีเพิ่มเติมในด้านการลงทุน และประเด็นอื่น ๆ
ทั้งนี้ การทบทวน FTA อาเซียน–จีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 เบื้องต้นอาเซียนกับจีน ได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% และเปิดเสรีเรื่องการลงทุน โดยจีนยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทย จำนวน 432 รายการ (5.2% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ กระดาษ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และลำไยกระป๋อง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ปลายเดือนก.ค.2564
ส่วนของ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าลงเหลือ 0% และเจรจาปรับปรุงข้อบทอื่น ๆ รวมถึงเรื่องการลงทุน โดยเกาหลีใต้ยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทย จำนวน 1,257 รายการ (10% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น ไก่และกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มะม่วง ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำมันรำข้าว เคมีภัณฑ์ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ในเดือนก.ค.2564 เช่นเดียวกัน
สำหรับ FTA อาเซียน–อินเดีย (AIFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างสรุปขอบเขตการทบทวน FTA ซึ่งจะประกอบด้วย เรื่องการลดและยกเลิกภาษีนำเข้า มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–อินเดีย ในเดือนก.ย.2564 เพื่อพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและเริ่มการเจรจาทบทวนความตกลง AITIGA ต่อไป ทั้งนี้ อินเดียยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกจากไทย จำนวน 1,079 รายการ (20.97% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น ปูนซีเมนต์ เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องแปลงไฟฟ้าชนิดคงที่ เครื่องนุ่งห่ม และลวดทองแดง
นับตั้งแต่ความตกลง FTA ทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ได้ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ขยายตัว 45–420% และมีการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกจาก FTA ทั้ง 3 ฉบับ คือ ACFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูงถึง 90% เช่น ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถยนต์และยานยนต์ขนส่งส่วนบุคคล สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และผลไม้สด AKFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก 70.74% เช่น เครื่องซักผ้า ยางนอกชนิดอัดลม แผ่นไม้อัด และพาร์ติเคิลบอร์ด และ AIFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก 65.23% เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรกล
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง