กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หลังบังคับใช้มานานกว่า 20 ปี เพื่อพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ลดอุปสรรคการเข้ามาลงทุน และคุ้มครองธุรกิจคนไทยที่ยังไม่พร้อมแข่งขัน เริ่มแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่ 28 มิ.ย.-30 ก.ค.นี้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ต่างด้าว พ.ศ.2542) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและปกป้องธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-30 ก.ค.2564 เพื่อพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ลดอุปสรรคต่อการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และคุ้มครองธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน
โดยประเด็นต่าง ๆ ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็น เช่น ความหมายของคำว่า “คนต่างด้าว” จำนวนทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้ในการประกอบธุรกิจ การปลดล็อกธุรกิจบัญชีท้ายและสร้างกลไกในการกำกับดูแล อัตราส่วนทุนต่อเงินกู้ที่คนต่างด้าวสามารถกู้มาใช้ในการประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจนอกบัญชี เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น กรมฯ กำหนดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจำนวน 2 ช่องทาง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยช่องทางออนไลน์ บุคคลทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย http://lawtest.egov.go.th และเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th >> กฎหมาย >> แสดงความคิดเห็นร่างกฎหมาย ส่วนช่องทางออฟไลน์ กรมฯ จะส่งหนังสือและแบบแสดงความคิดเห็นให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความคิดเห็นลงในแบบฟอร์มที่กำหนด และกรมฯ ยังจะดำเนินการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นผ่านทาง Facebook Live ของสำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : DBD Bureau of Law ช่วงต้นเดือนก.ค.2564 ด้วย จากนั้น กรมฯ จะนำความคิดเห็นทั้งหมดมาใช้ประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และหากมีประเด็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงจะดำเนินการในลำดับถัดไป
“ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งทุกความคิดเห็นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากฎหมายและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 4470 อีเมล์ : [email protected]” นายทศพลกล่าว
สำหรับกฎหมายดังกล่าว มีผลบังคับใช้มากว่า 20 ปี ทำให้ตัวบทกฎหมายมีความล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 และพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายอยู่ในการกำกับดูแลต้องดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักการมีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ลดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน รวมทั้ง ตรวจสอบเนื้อหาของกฎหมายให้มีระบบอนุมัติ อนุญาตเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ พิจารณาระบบคณะกรรมการให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสม กระทัดรัด และการทบทวนโทษทางอาญาให้มีเฉพาะในความผิดที่ร้ายแรง เพื่อไม่ให้ผู้กระทำความผิดมีประวัติอาชญากรรม
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง